วันศุกร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2560

“รายอ กีตอ” ในดวงใจของชาวประชา


นับแต่ค่ำวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ประชาชนชาวไทยทุกฐานถิ่น ตั้งแต่เหนือไปจนจรดชายแดนใต้ปกคลุมไปด้วยความโศกสลด และเสียงร่ำไห้อาลัยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ...จนถึงวันนี้ พสกนิกรไทยทั้งมวลสามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากว่า ไม่มีพื้นที่ไหนที่พระองค์ไม่เคยเสด็จพระราชดำเนินไปถึง

เป็นเวลายาวนานถึง  70 ปี ตลอดรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงงานอย่างหนัก ณ ที่แห่งหนตำบลใดประชาชนอยู่อาศัยกันด้วยความยากลำบาก พระองค์มิทรงนิ่งเฉย ทรงช่วยเหลือ แก้ปัญหาให้ราษฎร โดยไม่หวั่นกลัว ไม่ท้อถอยต่อภยันตรายใดๆ ดังนั้นพระองค์จึงเป็นที่รักของราษฎรทั่วทั้งประเทศไม่ว่านับถือศาสนาพุทธ คริสต์หรืออิสลาม มีภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน
สามจังหวัดชายแดนใต้นอกจากประชาชนอยู่กับความยากจนแล้วยังต้องอยู่ กับความหวาดกลัวมาเป็นเวลานาน แต่ในความน่ากลัวอันตรายที่เกิดขึ้นในชีวิตนั้น ยังมีพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย ทรงบากบั่นเยี่ยมราษฎรของพระองค์ด้วยความลำบากโดยปราศจากความหวาดกลัว ทรงห่วงใยพสกนิกรมุสลิมในภาคใต้เป็นพิเศษ ทรงเสด็จฯแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระตําหนักทักษิณราชนิเวศน์เป็นประจําทุกปี เสด็จฯไปทรงเยี่ยมเยียนพสกนิกรมุสลิมในท้องถิ่นทุรกันดารห่างไกลให้ราษฎรได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯอย่างใกล้ชิดและทรงสอบถามถึงทุกข์-สุขของราษฎร พระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริเพื่อพัฒนาอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร ความห่วงใยของพระองค์นำมาซึ่งเรื่องเล่าและเรื่องราวแห่งความรักในหัวใจชาวจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีต่อพระองค์

รักถึงเพียงนี้” และ “จุดเทียนส่งเสด็จ”
บทความชื่อ “แผ่นดินร่มเย็นที่นราธิวาส” ตีพิมพ์ในนิตยสาร “สู่อนาคต” ฉบับพิเศษเนื่องในวันเฉลิมฯ ได้เล่าย้อนให้เราได้เห็นภาพความยากลำบากในการเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรทางภาคใต้เมื่อหลายปีก่อน โดยเฉพาะช่วงก่อนสร้างพระราชตำหนักทักษิณราชนิเวศน์นั้น เป็นที่รู้กันว่าจังหวัดนราธิวาสชุกชุมไปด้วยโจรร้าย โจรปล้นสะดมและพวกโจรเรียกค่าไถ่ ถึงขนาดที่ในหลายๆ หมู่บ้านนั้น แม้แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐก็ไม่กล้าย่างกรายเข้าไป  ทว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักในทุกข์อันลึกล้ำของชาวบ้านที่ทั้งทุกข์เพราะยากจน และทุกข์เพราะภัยคุกคาม จึงได้เสด็จฯ ลงไปเยี่ยมเยียนเป็นขวัญกำลังใจให้ราษฎรของพระองค์โดยไม่ทรงหวาดหวั่น บางวันถึงกับเสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์โดยปราศจากกำลังอารักขา และบางหมู่บ้านตำรวจเพิ่งถูกคนร้ายแย่งปืนแล้วยิ่งตายก่อเสด็จไปถึงเพียงไม่ กี่ชั่วโมง  ทรงรักราษฎรถึงเพียงนี้ จึงไม่แปลกที่หญิงชราคนหนึ่งในหมู่บ้านหนึ่งของอำเภอรือเสาะจะเข้ามาเกาะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวร้องไห้แล้วบอกว่า “ไม่นึกเลยว่าพระเจ้าอยู่หัวเป็นคนไทยชาวพุทธ จะมารักมุสลิมได้ถึงขนาดนี้…”
บทความเดียวกันได้เปิดเผยต่อไปอีกว่า ที่อีกหมู่บ้านหนึ่งในอำเภอเดียวกันนั้น โต๊ะครูได้พาพรรคพวกมายืนรอรับเสด็จแล้วพูดขึ้นว่า “..รายอกลับไปเถอะ ประไหมสุหรีกลับไปเถิด ประเดี๋ยวพวกโจรจะลงจากเขา…” และเมื่อถึงเวลาเสด็จฯ กลับที่มืดสนิทอย่างน่ากลัว โต๊ะครูกับชาวบ้านก็พากันมาจุดเทียนส่งเสด็จตลอดเส้นทางอันตราย ด้วยความห่วงใยใน “รายอ” และ “ประไหมสุหรี” หรือ พระราชาพระราชินีของพวกเขาอย่างสุดซึ้ง
เมื่อคราวพระองค์เสด็จพระราช ดำเนินลงพื้นที่ ต.ปะเสยะวอ อ.สายบุรีเพื่อทรงทอดพระเนตรพื้นที่เพื่อสร้างโครงการพัฒนาพรุแฆแฆ และเพื่อขุดคลองชลประทานเพื่อการเกษตรและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เมื่อปี 2535  “วาเด็ง ปูเต๊ะ” หรือ “เป๊าะเด็ง” ผู้เฒ่าชาวสวนผลไม้แห่ง ลุ่มน้ำสายบุรี  ประสบกับบุรุษนิรนามกลางสวนทุเรียนในพลบค่ำเดือนกันยายน 2535 ก่อนที่เขาจะรู้ว่ามหาบุรุษเบื้องหน้าคือพระเจ้าแผ่นดิน หรือ “รายอ” ที่เคยได้ยินแต่ชื่อ นายวาเด็งพายเรือให้พระองค์ประทับเพื่อสำรวจ คลองสายทุ่งเค็จ พระองค์มีพระราชดำรัสถาม พร้อมเปิดแผนที่เพื่อให้รู้ว่าจะสร้างแหล่งชลประทานอย่างไร ตอนพายเรืออยู่ ในหลวง ตรัสด้วยว่า “ให้วาเด็งทำตัวให้สบาย...มีอะไรที่ชาวบ้านเดือดร้อนก็ให้เล่ามาตามความจริง” นายวาเด็งจึงกราบทูลในหลวง ว่าเมื่อถึงเวลาหน้าฝน น้ำจะท่วม ทำนาไม่ได้ เมื่อถึงหน้าแล้ง ก็ทำนาไม่ได้ เพราะไม่มีน้ำทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน จากนั้น ในหลวง คงจะทรงลองใจนายวาเด็ง จึงตรัสถามขอที่ดินเพื่อทำโครงการพระราชดำริ ด้วยความปลาบปลื้มนายวาเด็งจึงขอยกที่ดินถวายให้พระองค์ทันที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงแย้มพระสรวล และมีพระราชดำรัสว่าให้นายวาเด็งเป็น “พระสหาย” ตั้งแต่บัดนั้น ในหลวง ตรัสเรื่องนี้ว่า “วาเด็งเป็นคนซื่อตรง...จึงขอแต่งตั้งให้วาเด็งเป็นเพื่อนของในหลวง” พร้อมทรงชวนให้นายวาเด็งและภรรยาเดินทางไปเที่ยวที่กรุงเทพฯ และเมื่อพระองค์เสด็จฯ มาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ตรัสเรียกให้เข้าเฝ้าที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ทุกครั้ง
ยังมีตํานาน “ปลาร้องไห้ที่บ้านปาตาตีมอ” และอีกหลายร่องรอยความทรงจำของผู้คนในถิ่นที่พระองค์เสด็จไปเยี่ยมเยียน หรือนับร้อยนับพันเรื่องราว แทบทุกตารางนิ้วบนแผ่นดินไทยล้วนได้รับพระเมตตาในการพลิกฟื้นจากร้อนแล้งแห้งผาก ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ ฉ่ำเย็น และผาสุก ไม่เว้นแม้แต่พื้นที่ที่ใครหลายคนรู้สึกว่าเป็นพื้นที่อันตรายอย่างสามจังหวัดชายแดนใต้ ไม่เพียงพระองค์ได้ทรงแปรพระราชฐานไปบ่อยครั้ง แต่ยังพระราชทานยุทธศาสตร์ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ที่ทุกภาคส่วนน้อมนำมาเป็นหลักชัยในการสถาปนาสันติสุขบนแผ่นดินปลายด้ามขวานอีกด้วย และนั่นคือหัวใจของการคลี่คลายทุกปัญหา ดั่งน้ำฝนเย็นชื่นใจที่หลั่งลงมาจากฟากฟ้าให้พสกนิกรของพระองค์อยู่เย็นเป็นสุข
เสด็จสู่สวรรคาลัย ผองพกนิกรชาวไทยน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณตราบนิจนิรันดร์…


ขอบคุณข้อมูลจาก www.southdeepoutlook.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น