วันพฤหัสบดีที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2560

อัลกุรอาน



อัลกุรอาน บ้างเรียก โกหร่าน (อาหรับ: الْقُرآن‎) เป็นคัมภีร์ในศาสนาอิสลาม ชาวมุสลิมเชื่อว่าเป็นพระวจนะของอัลลอฮ์ที่ประทานผ่านทางเทวทูตญิบรีล มาสู่นบีมุฮัมมัด คำว่า กุรอาน มาจากรากศัพท์ในภาษาอาหรับแปลว่า การอ่าน หรือ อาขยาน

อัลลอฮ์ได้ประทานคัมภีร์อัลกรุอานแก่นบีมุฮัมมัดซึ่งชาวมุสลิมถือว่าเป็นศาสนทูตคนสุดท้าย และคัมภีร์นี้ก็เป็นคัมภีร์สุดท้ายที่อัลลอฮ์ได้ส่งมาให้แก่มวลมนุษยชาติ หลังจากนี้แล้วจะไม่มีคัมภีร์ใด ๆ จากพระเป็นเจ้าอีก คัมภีร์กรุอานนี้ได้ประทานมาเพื่อยกเลิกคัมภีร์เก่า ๆ ที่เคยได้ทรงประทานมาในอดีตนั่นคือคัมภีร์เตารอต ที่เคยทรงประทานมาแก่นบีมูซา คัมภีร์ซะบูร ที่เคยทรงประทานมาแก่นบีดาวูด (ดาวิด) และคัมภีร์อินญีลที่เคยทรงประทานมาแก่นบีอีซา (พระเยซู) เป็นคัมภีร์ที่บริบูรณ์ไม่มีการเพี้ยนเปลี่ยนแปลง ภาษาของคัมภีร์อัลกุรอานนั้นคือภาษาอาหรับ ที่ยังใช้อยู่ในปัจจุบัน

การศรัทธาในคัมภีร์อัลกุรอานทั้งเล่มเป็นหลักการหนึ่งที่มุสลิมทุกคนต้องศรัทธา นั่นก็หมายความว่าหากไม่ศรัทธาในอัลกุรอาน หรือศรัทธาเพียงบางส่วนก็จะเป็นมุสลิมไม่ได้ เช่นเดียวกับที่ต้องศรัทธาว่าคัมภีร์อัลกุรอานนี้มีความบริบูรณ์ภายใต้การพิทักษ์ของพระผู้เป็นเจ้า ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีการสังคายนาคัมภีร์อัลกุรอานเลย[ต้องการอ้างอิง] ตั้งแต่วันที่ท่านศาสดาเสียชีวิตจนกระทั่งถึงปัจจุบัน โดยมีความเหมือนกันในทุกฉบับบนโลก และภาษาอาหรับในคัมภีร์จึงเป็นภาษาโบราณภาษาเดียว ที่มีใช้อย่างคงเดิมอยู่จนกระทั่งวันนี้ได้ และได้กลายเป็นภาษามาตรฐานของประเทศอาหรับทั้งหลาย เป็นภาษาวิชาการของอิสลาม และเป็นภาษาที่ใช้ในการปฏิบัติศาสนพิธีของมุสลิมทุกคนทั่วโลก



การประทานคัมภีร์
ในราวปี ค.ศ.610 เมื่อมุฮัมมัดนั่งบำเพ็ญตนอยู่ในถ้ำบนยอดเขาฮิรออ์อย่างที่เคยทำเป็นประจำ ญิบรีลก็ปรากฏตนขึ้น และนำพระโองการแรกจากพระผู้เป็นเจ้ามีความว่า

"อ่าน! ด้วยพระนามแห่งผู้อภิบาลของเจ้า ผู้ทรงบังเกิด ทรงบังเกิดมนุษย์จากก้อนเลือด จงอ่าน และพระเจ้าของเธอนั้นผู้ทรงใจบุญยิ่ง ผู้ทรงสอนการใช้ปากกา ผู้ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่เขาไม่รู้ ..." (บทที่ 96 อัลอะลัก)

คัมภีร์อัลกุรอานในคริสต์ศตวรรษที่ 18
ตั้งแต่นั้นมามุฮัมมัดก็ได้กลายเป็นศาสนทูตของพระเจ้า ที่ต้องรับหน้าที่ประกาศศาสนาของพระเจ้า นั่นคือศาสนาอิสลาม ที่ตั้งอยู่บนหลักการไม่บูชาสิ่งอื่นใดนอกจากพระเจ้าองค์เดียว การวิวรณ์ การรับสาส์น หรือโองการจากพระเจ้านั้นเรียกในภาษาอาหรับว่าวะฮีย์ ศาสดามุฮัมมัดได้รับวะฮีย์เป็นคราวๆทะยอยลงมาเรื่อยๆ จากวะฮีย์แรกถึงวะฮีย์สุดท้ายใช้เวลา 23 ปี ทุกครั้งที่วะฮีย์ลงมา ท่านศาสนทูตจะประกาศให้สาวกของท่านทราบ เพื่อจะได้ไปประกาศให้คนอื่นทราบอีกต่อไป สาวกจะพยายามท่องจำวะฮีย์ที่ลงมานั้นจนขึ้นใจ และท่านศาสดาจะสั่งให้อาลักษณ์ของท่านบันทึกลงในสมุดที่ทำด้วยหนังสัตว์ กระดูก หรือสิ่งอื่นๆที่สามารถเก็บรักษาไว้ได้

ชาวอาหรับสมัยนั้นเก่งกาจในเชิงกวีนิพนธ์ มีกวีลือนามปรากฏอยู่ทุกเผ่า ที่กะอ์บะฮ์นั้นก็มีบทกวีที่แต่งโดยเจ็ดยอดกวีอาหรับ เขียนด้วยน้ำทองคำแขวนอยู่ ในงานแสดงสินค้าประจำปีที่ อุกาซ ในอาราเบีย ที่จัดให้อาหรับทุกเผ่าพันธุ์มาพบปะแลกเปลี่ยนสินค้าและวัฒนธรรม ก็จะมีกิจกรรมที่สำคัญที่สุดร่วมอยู่ด้วยนั่นคือการประชันบทกวี

อันลักษณะของคัมภีร์อัลกรุอานนั้นอยู่กึ่งกลางระหว่างร้อยแก้วและร้อยกรอง คัมภีร์อัลกรุอานจึงเป็นสิ่งท้าทายที่พิสดารสำหรับชาวอาหรับ เพราะเป็นร้อยแก้วมีความไพเราะได้โดยไม่ต้องใช้มาตราสัมผัสและบทวรรคตามกฎของกวีนิพนธ์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชาวอาหรับฉงนใจว่า คนที่ไม่เคยแต่งโคลงกลอนและอ่านเขียนไม่ได้อย่างมุฮัมมัด จะต้องไม่ใช่ผู้แต่งอัลกุรอานเป็นแน่



เนื้อหาสาระของอัลกุรอาน
อัลกุรอานแบ่งออกเป็นบท เรียกว่า ซูเราะฮ์ ซึ่งมีทั้งหมด 114 ซูเราะฮ์ แต่ละซูเราะฮ์ แบ่งเป็นวรรคสั้นยาวไม่เท่ากัน เรียกว่า อายะห์ (แปลว่า สัญลักษณ์) ซึ่งอัลกรุอานมีอายะหฺทั้งหมด 6236 อายะฮ์ ตามการนับมาตรฐาน (ดู คัมภีร์มาตรฐานที่พิมพ์โดยรัฐบาลซาอุดีอารเบีย) เนื้อหาในอัลกุรอานนั้นแบ่งได้สามหมวดคือ หนึ่งเกี่ยวกับหลักการศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า ความเร้นลับที่มีอยู่ในและนอกกาละและเทศะ หมวดที่สองคือพงศาวดารของประเทศชาติก่อนหน้าการประกาศอิสลาม และคำพยากรณ์สำหรับอนาคตกาล หมวดที่สามเป็นนิติบัญญัติสำหรับมนุษย์ที่จะต้องนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ในแต่ละซูเราะฮ์หรือแม้ในแต่ละวรรคอาจจะมีที่ระบุถึงสามหมวดในเวลาเดียวกัน

คัมภีร์อัลกรุอานมีความมหัศจรรย์หลายอย่าง ประการแรกก็คือความไพเราะของเชิงวรรณศิลป์จังหวะจะโคนที่ต่างไปจากกวีนิพนธ์อาหรับสมัยนั้น ประการที่สองคือการเปิดเผยความลี้ลับของศาสตร์และวิทยาการแขนงต่าง ๆ ที่คนสมัยนั้นยังไม่ทราบ การเปิดเผยพงศาวดารในอดีต การพยากรณ์อนาคต การเปิดเผยความลี้ลับที่วิทยาศาสตร์ยังไม่รู้ ดั่งเช่น การระบุถึงการขยายตัวของจักรวาล คลื่นใต้น้ำ และบทบาทของลมในการผสมพันธุ์ของต้นไม้เป็นต้น

การที่ภาษาอาหรับเป็นภาษาที่ไม่วิวัฒน์หรือตายเหมือนภาษาอื่น ๆ และการที่วิทยาการที่มีระบุในคัมภีร์อัลกรุอานไม่เคยล้าสมัย อีกทั้งคำสั่งสอนของอัลกุรอานก็เอาหลักตรรกวิทยาและปรัชญาเป็นพื้นฐาน

ตามความเชื่อของชาวมุสลิม ด้วยความมหัศจรรย์ของกรุอานดังที่กล่าวมาคือปาฏิหาริย์อันยิ่งใหญ่ ที่พระเจ้าได้ทรงประทานให้แก่นบีมุหัมมัด เพื่อยืนยันว่า อัลกรุอานเป็นโองการของพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริงไม่ใช่กวีนิพนธ์ของมนุษย์

"และถ้าพวกเธอยังแคลงใจใน(สิ่ง)ที่เราประทานแก่บ่าวของเรา พวกเธอก็จงนำมาสักบทหนึ่งเยี่ยงนั้น และจงเรียกผู้ช่วยเหลือของพวกเธอมา -นอกจากพระเจ้า- ถ้าพวกเธอแน่จริง"




หลังจากศาสนทูตมุฮัมมัดประกอบพิธีฮัจญ์ในมักกะฮ์ พระเจ้าก็ได้ทรงประทานโองการอันสุดท้าย นั่นคือ

"วันนี้ฉันได้ทำให้ศาสนาของพวกเธอสมบูรณ์ และฉันได้ทำให้ความโปรดปรานของฉันที่มีต่อพวกเธอนั้นบริบูรณ์ และฉันได้เลือกให้อิสลามเป็นศาสนาของพวกเธอ" (บทที่ 3 อัลมาอิดะฮฺ)

การจัดเรียงลำดับบทต่างๆของคัมภีร์ซึ่งเป็นเช่นนี้ตั้งแต่ต้นนั้นไม่ได้ถือลำดับก่อนหลังเป็นหลัก แต่จะเรียงตามจำนวนของวรรคในบทต่างๆ แต่เพราะความที่ในทุกๆบทมีใจความสมบูรณ์แล้ว การเรียงลำดับใดๆจึงไม่มีผลกระทบต่อเนื้อหาของบัญญัติ กระนั้นก็มีนักวิชาการทำการค้นคว้าการจัดเรียงรูปแบบต่างๆ เช่น ตามลำดับก่อนหลังของการเปิดเผยโอการ แต่ก็ไม่เป็นที่นิยม โองการที่ลงมาตอนท่านศาสดาอพยพ ซึ่งที่เรียกว่า มักกียะห์ ก็อาจจะเข้าไปอยู่ในบทที่มีโองการที่ลงมาหลังอพยพไปมะดีนะฮ์ คือทีเรียกว่า มะดะนียะฮฺ ท่านศาสดาเสียชีวิตหลังจากโองการอัลกุรอานได้รวบรวมขึ้นเป็นเล่มบริบูรณ์แล้ว

เนื่องด้วยคัมภีร์อัลกุรอานเป็นธรรมนูญของอิสลาม จึงเกิดมีวิทยาการใหญ่ ๆ แตกแขนงมาจากคัมภีร์อัลกุรอานหลายสาขา เช่น วิชาตัจญ์วีด ซึ่งเป็นวิชาเกี่ยวกับการอ่านอัลกุรอานให้ถูกต้อง วิชาอุลูมอัลกุรอาน หรือที่เรียกว่า อุศูลอัลกุรอาน เป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับประวัติความเป็นมาของอัลกุรอาน ศึกษาว่าโองการแต่ละโองการลงมาที่ไหนเมื่อไหร่และเหตุใด อันเป็นส่วนช่วยในการตีความหมายอัลกุรอาน หรือที่เรียกว่า ตัฟซีรอัลกุรอาน


ตั้งอดีตจนกระทั่งปัจจุบันได้มีนักปราชญ์อิสลามหลายสิบคนที่ได้แต่งหนังสือตีความหมายอัลกุรอาน เรียกหนังสืออรรถาธิบายนี้ว่า หนังสือตัฟซีร และเรียกผู้แต่งว่า มุฟัซซิร การตีความหมายอัลกุรอานจะใช้หลักของอุลูมอัลกุรอานดังกล่าวบวกเข้ากับวจนะของศาสดา ภาษาศาสตร์ และวิทยาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในปัจจุบันนี้ชาวมุสลิมจะอ้างอิงหนังสือตัฟซีรเก่า ๆ เป็นหลักในการเขียนตัฟซีรใหม่ หรือในการแปลความหมายอัลกุรอานเป็นภาษาอื่น

......................................................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น