วันจันทร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2560

10 เมนูเด็ด อาหารภาคใต้ ที่คุณมาปัตตานี ยะลา นราธิวาส แล้วต้องลอง!



ใครๆ ที่มาเที่ยวปัตตานี ยะลา นราธิวาส แล้วก็ไม่พลาดที่จะต้องขอลองลิ้มอาหารอร่อยๆ ประจำท้องถิ่นกันด้วย และแน่นอนว่าเมื่อมาเยือนถึงถิ่นใต้ก็ต้องหาอาหารภาคใต้รสเด็ดมากินกัน ซึ่งทางมุสลลิมไทยโพสต์จึงรวบรวม 10 เมนูเด็ด อาหารภาคใต้ ที่คุณมาปัตตานี ยะลา นราธิวาส แล้วต้องลอง!

 

1. ข้าวยำใบพันสมอ หรือเรียกกันว่า ข้าวยำนราธิวาส

          ข้าวยำปักใต้ ถือเป็นอาหารเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นภาคใต้ และเป็นอาหารจานเดียวของไทยที่ให้สารอาหารครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ แถมยังเป็นอาหารธรรมชาติที่ให้วิตามินและเกลือแร่ จากผักสดๆ และยังมีเส้นใยสูง เหมาะกับคนที่ต้องการลดน้ำหนัก หรือควบคุมน้ำหนัก อีกทั้งยังช่วยให้ระบบขับถ่ายดีอีกด้วย และทีเด็ดของความอร่อยของข้าวยำ คือ "น้ำบูดู" นี่เอง

2. นาซิดาแฆ
          นาซิดาแฆ เป็นอาหารพื้นเมืองของชาวไทยมุสลิมในภาคใต้ ซึ่งนิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลาย คำว่า "นาซิดาแฆ" มีหลายความหมาย หมายถึง ข้าวสำหรับคนอนาถา การได้ชื่อเช่นนี้สืบเนื่องมาจากส่วนประกอบสำคัญของนาซิดาแฆเป็นส่วนผสมระหว่างข้าวจ้าวกับข้าวเหนียว ผู้มีรายได้น้อยถ้ามีข้าวจ้าวกับข้าวเหนียวเพียงบางส่วนก็สามารถนำมาปนกันทำเป็นอาหารได้แล้ว
           ในความหมายอื่น คำว่า "ดาแฆ" มาจาก "ดาฆัง" ในภาษาอินโดนีเซีย แปลว่า หาบ ดังนั้น นาซิดาแฆ แปลว่า ข้าวหาบและเนื่องจาก "ดาแฆ" ของชาวไทยมุสลิมภาคใต้ หมายถึงคนต่างถิ่น ดังนั้น นาซิดาแฆ จึงหมายถึง ข้าวของคนต่างถิ่นคือเป็นข้าวที่ชาวอินโดนีเซีย เป็นผู้นำมาเผยแพร่ในแถบนี้

3. ตูปะซูตง
           ตูปะซูตง คือ อาหารหวานที่นำปลาหมึกมายัดข้าวเหนียวลงท้อง จากนั้นต้มด้วยกะทิและปรุงรสด้วยน้ำตาลแว่นและเกลือ เป็นขนมหวานที่นับวันจะหาซื้อได้ยาก จะหาซื้อกินทีก็ต้องรอช่วงเทศกาล

4.ละแซ หรือ ละซอ 
            ละแซ หรือ ละซอ เป็นอาหารคาวซึ่งมีเส้นแบนยาวเป็นแถบ ๆ กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร คล้ายเส้นก๋วยเตี๋ยว ราดด้วยน้ำแกงและผสมผักใช้รับประทานเหมือนขนมจีน ลักษณะของน้ำแกงเป็นน้ำข้น ๆ สีขาวนวล ผักที่นิยมใช้รับประทาน คู่กับละแซ คือ หัวปลี ถั่วงอก ดอกกาหลา ใบจันทน์หอม ถั่วฝักยาว แตงกวายอดมะม่วงหิมพานต์

5. สะเต๊ะ
           สะเต๊ะ เมนูอาหารภาคใต้ ที่ได้รับความนิยมไปทั่วทุกภาค เชื่อไหมว่า สะเต๊ะนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากเกาะชวา อินโดนีเซียเชียว สะเต๊ะของอินโดนีเซีย อาจได้รับอิทธิพลจากคาบับที่เป็นอาหารพื้นเมืองของอินเดียภาคเหนือ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากชาวเตอร์กอีกต่อหนึ่ง ตำรับดั้งเดิมของชาวตุรกีเป็นเนื้อแพะหั่นเป็นชิ้นหมักแล้วเสียบเหล็กแหลมย่างไฟ ชาวเปอร์เซียและชาวอินเดียรับมาดัดแปลง อาจใช้เนื้อบดหรือเนื้อทั้งชิ้น จะเสียบหรือไม่เสียบไม้ก็ได้ เมื่อแพร่หลายมาถึงมลายู-ชวาจึงกลายเป็นสะเต๊ะอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

6. ปูโละกายอ 
           ปูโละกายอ เป็นภาษามลายู ปูโละ คือ  "ข้าวเหนียว" กายอ คือ "สังขยา" รวมก็คือ ข้าวเหนียวสังขยา แต่ข้าวเหนียวสังขยาหรือปูโละกายอของปัตตานี จะแตกต่างกับข้าวเหนียวสังขยาของจังหวัดอื่น ๆ คือ ข้าวเหนียวสังขยาของปัตตานีอยู่ติดกัน 

7. กือโป๊ะ
          กือโป๊ะ เป็นข้าวเกรียบชนิดหนึ่ง ที่ไม่ต้องนำไปตากแห้ง ก่อนนำไปทอด เหมือนข้าวแห้งโดยทั่วไป หากแต่ เป็นข้าวเกรียบสด หรือ ข้าวเกรียบที่ทำจากปลาทูสดๆ นั่นเอง ซึ่งภาษาถิ่น จะนิยม เรียกว่า “กือโป๊ะ” หรือ “กะโป๊ะ”

8. ไก่กอและ หรือ ไก่ฆอและ
          ไก่ย่างกอและ อีกหนึ่งเมนูอาหารจากทางภาคใต้ พี่น้องชาวใต้และพี่น้องเชื้อสายมุสลิม คงจะรู้จักเป็นอย่างดี โดยเฉพาะที่ปัตตานีจะมีชื่อเสียงมาก ไก่กอและในภาษามลายูปาตานีจะอ่านว่า "อาแยฆอและ" (Ayam Golek) คำว่า อาแย (Ayam) แปลว่าไก่ ฆอและ (Golek) แปลว่า กลิ้ง อาแยฆอและ จึงแปลว่า ไก่กลิ้ง ก็น่าจะหมายถึงการย่างเพราะต้องคอยพลิกกลับไปมา นอกจากจะใช้ไก่ทำแล้ว ยังสามารถใช้เนื้อสัตว์อื่น ๆ ทำได้ เช่น หอยแครงสด ปลา เนื้อวัว เป็นต้น

9. โรตีกรอบ
            โรตีกรอบ เป็นอาหารว่างประจำ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่หลายคนคงจะรู้จักเป็นอย่างดี อีกเมนูหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันโรตีกรอบ ได้รับความนิยมไปทั่วทุกพื้นที่

10. ขนมอาเก๊าะ
             ขนมอาเก๊าะ เป็นขนมแสนอร่อยที่สุดในภาคใต้ที่ปรุงจากแป้ง ไข่เป็ด น้ำตาลและกะทิ เนื้อขนมคล้ายขนมหม้อแกง สังขยา รูปร่างคล้ายขนมไข่ เพราะหยอดแป้งลงในพิมพ์ขนมเหมือนกัน แต่พิมพ์ของขนมอาเก๊าะใหญ่กว่า ทำให้สุกด้วยการผิงไฟบนล่าง นิยิมรับประทานในเดือนรอมฎอน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น