ประวัติความเป็นมา
ตามตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาจนถึงยุคปัจจุบัน
ว่าความเป็นมาของการแสดงดาระที่ถือว่าเป็นจุดกำเนิดของการร่ายรำคือตัวแม่กวางลูกอ่อน ดังนี้....
ตามตำนานเล่าว่า...มีนายพรานออกล่าสัตว์ในป่าเพื่อไปประกอบอาหาร โดยใช้แร้วเป็นอุปกรณ์ในการจับดัก ครั้งหนึ่งมีแม่กวางลูกอ่อนได้ติดกับดัก
ในขณะที่นายพรานแกะแร้วออกจากตัวแม่กวาง
นายพรานก็ได้ยินเสียงอ้อนวอนของแม่กวางว่า นางมีลูกอ่อนต้องเลี้ยงดูขอให้นางกลับไปให้ลูกกินนมแล้วจะพาทั้งครอบครัวกลับมาหานายพราน
เมื่อนายพรานได้ฟังก็สงสารเห็นใจในความรัก
ความอาทรที่แม่กวางมีต่อลูกจึงปล่อยไป
เมื่อแม่กวางให้ลูกกวางกินนมเสร็จแม่กวางก็พาทั้งพ่อกวางและลูกมาให้นายพรานตามที่สัญญาไว้
เมื่อมาถึงกวางทั้ง 3 ตัวก็ร่ายรำ
พร้อมกับร้องเพลงให้นายพรานดู เนื้อหาของเพลงล้วนสรรเสริญพระเจ้า คือองค์พระนบี
จนนายพรานเมื่อได้ฟังและชมการแสดงจนรู้สึกเคลิบเคลิ้ม เกิดความรู้สึกสงสารครอบครัวของกวางจึงยอมปล่อยไป เมื่อกลับถึงหมู่บ้านนายพรานก็นำเรื่องที่ตนจับกวางและปล่อยไปให้เพื่อนบ้านฟัง
ทุกคนต่างสงสัยว่า ครอบครัวของกวางทำอะไรจึงเป็นเหตุให้นายพรานปล่อยพวกมันไป
นายพรานจึงร่ายรำและร้องเพลงที่ครอบครัวกวางได้แสดงให้ทุกคนดู
ทุกคนต่างชอบใจจึงได้นำการร่ายรำนี้มาละเล่นกัน
พร้อมทั้งนำเครื่องดนตรีรำมะนา ประกอบเป็นจังหวะเพลง ส่วนบทร้องนั้นเป็นภาษาอาหรับพื้นเมือง
“ดาระ” เป็นศิลปะการแสดงประเภทร่ายรำพื้นบ้านชนิดหนึ่งของจังหวัดสตูล
ที่ได้รับอิทธิพลจากประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยเข้ามาทางประเทศมาเลเซีย จากพ่อค้าและนักท่องเที่ยว มีการปรับเปลี่ยนท่ารำจากนั่งโดยใช้เบาะรองมาเป็นการยืนสลับนั่ง
แล้วพัฒนามาเป็นการแปรแถวออกเป็นรูปแบบต่างๆ
การแสดงจะร่ายรำโดยเปลี่ยนไปตามบทเพลงโดยเพลงละ 1 ท่า
เริ่มต้นการด้วยการไหว้ครูโดยใช้บทเพลง ซามีลา และลงท้ายด้วยเพลงฮอดามี
เครื่องดนตรีที่ใช้มีเพียงกลองรำมะนาเท่านั้น
และมีการใช้เหรียญสตางค์มาร้อยเรียงติดกับรำมะนาเรียกว่ารำมะนาฉิ่ง
“ดาระ” เป็นที่รู้จักกันในจังหวัดสตูลเมื่อประมาณ 3-4 ชั่วอายุคน
โดยสันนิษฐานว่ามีถิ่นกำเนิดในหมู่บ้านเล็กๆ แขวงเมืองฮัมดาระ ตนเมาพ์
ประเทศซาอุดิอาระเบีย และได้เข้าสู่ประเทศไทยทางจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยผ่านทางประเทศมาเลเซีย
จากพ่อค้าและนักท่องเที่ยวในสมัยนั้น ถิ่นที่นิยมเล่นดาระมากในสมัยนั้นคืออำเภอเมือง
ตำบลแประ และตำบลควนโดน ปัจจุบัน เป็นอำเภอควนโดน เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบ
ศิลปะสมัยใหม่เข้ามามีอิทธิพลต่อค่านิยมของคนในชนบท การแสดงดาระจึงค่อยๆ
เสื่อมความนิยม
ต่อมาหน่วยงานราชการได้ส่งเสริมฟื้นฟูขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2525
เนื่องในโอกาสฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี
วิวัฒนาการการแสดงดาระ
การแสดงดาระในปัจจุบันครูสมศรี
ชอบกิจ
ครูสอนคหกรรมโรงเรียนควนโดนวิทยา ได้สอนการแสดงศิลปะพื้นบ้านดาระ
ให้กับนักเรียนในโรงเรียนควนโดนวิทยา โดยเปิดสอนในคาบชุมนุมอนุรักษ์ขึ้นในโรงเรียนควนโดนวิทยา
และบรรจุเป็นหลักสูตรท้องถิ่นเฉพาะเด็กสายศิลป์เท่านั้น ทั้งยังเป็นวิทยากรให้กับโรงเรียนอื่น ๆ พร้อมกับสอนกลุ่มสนใจต่างๆ
ทั้งในชุมชนและเยาวชนที่ศึกษาเกี่ยวกับการวัฒนธรรมต่างจังหวัดด้วย ดังนั้นการแสดงดาระ มักนิยมแสดงในงานเลี้ยงทั่วๆ ไป
และเปิดงานต่างๆที่ทางผู้จัดงานชื่นชอบและเชิญดาระมาร่วมแสดง
โดยมากมักเป็นงานประจำจังหวัดซึ่งส่วนใหญ่ผู้แสดงจะเป็นนักเรียนโรงเรียนควนโดนวิทยา
ผู้แสดง“ดาระ” ในปัจจุบัน เป็นนักเรียนโรงเรียนควนโดนวิทยา โดยมีการเรียนการสอนในหลักสูตรท้องถิ่น โดยนักแสดงเริ่มเรียนการร้องเพลงก่อน
ต่อมาจึงฝึกหัดรำ เมื่อมีความชำนาญมากขึ้นก็ได้รับเลือกให้ไปแสดงตามงานต่างๆ
ผู้แสดงดาระสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ 1) นักแสดง 2) นักร้อง 3)
นักดนตรี
วิวัฒนาการด้านการแต่งกาย
ในอดีตผู้ชายที่แต่งเป็นหญิงบางคนสวมกะลามะพร้าวที่หน้าอกเพื่อความสมจริง นอกจากนี้การแต่งหน้าเพื่อเน้นความเป็นผู้หญิงโดยใช้เครื่องสำอางที่ผลิตขึ้นจากสมุนไพร
เช่น ใช้กานพูนำมาลนไฟให้เป็นสีดำแล้วนำมาวาดคิ้ว ใช้สีน้ำหมากทาที่ปาก
แป้งที่ใช้ก็ใช้ไสยศาสตร์เข้ามาปลุกเสก แล้วนำมาผัดหน้า
นอกจากนี้ยังมีการย้อมเล็บโดยนำใบต้นเทียนมาตำให้ละเอียดแล้วนำมาพอกไว้หนึ่งคืน
แล้วแกะออกเล็บจะมีสีแดงทนทานหลายวัน
ปัจจุบันการแสดงดาระใช้ผู้ชายจริงหญิงแท้ ดังนั้นการแต่งกายจึงเป็นการแต่งแบบพื้นเมือง ผู้หญิงใช้ผ้าสไบพาดไหล่ขวา
ผูกรวบชายผ้าที่สะโพกซ้าย ส่วนผู้ชายสวมกางเกงขายาวสีดำ
วิวัฒนาการด้านเครื่องดนตรีและเพลง
ในอดีตใช้กลองรำมะนาเพียงอย่างเดียวมี
4 ใบ ผู้ตีจะเป็นผู้ขับร้องเอง รำมะนาที่ใช้มี 2
ลักษณะ คือกลองรำมะนา และรำมะนาฉิ่งที่นำเอาสตางค์มาร้อยรอบๆ
โดยใช้หวายร้อยตรึงเข้ากับตัวรำมะนา
แต่ในปัจจุบันใช้เฉพาะกลองรำมะนาอย่างเดียว
และไม่จำกัดจำนวนขึ้นอยู่กับนักดนตรีที่พร้อมในการบรรเลง และมีนักร้องต้นเสียงแทนการร้องเองของนักแสดง.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น