ป่าพรุผืนสุดท้ายของเมืองไทยที่ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำลำดับที่ 1102 ของประเทศไทยเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 โดยครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อำเภอตากใบ อำเภอสุไหงโกลก และอำเภอสุไหงปาดี มีพื้นที่ประมาณ 120,000 ไร่ ทว่าส่วนที่สมบูรณ์นั้นเหลือเพียง 50,000 ไร่ ป่าพรุโต๊ะแดงแห่งนี้เป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์ป่าและพรรณไม้ โดยมีลำน้ำสำคัญหลายสายไหลผ่าน ได้แก่ คลองสุไหงปาดี แม่น้ำบางนรา และคลองโต๊ะแดง อันเป็นที่มาของชื่อป่านั่นเอง
กำเนิด
“ป่าพรุ”
ป่าพรุ หรือ peat swamp
forest นั้น เกิดจากแอ่งน้ำจืดขังติดต่อกันชั่วนาตาปี
และมีการสะสมของชั้นดินอินทรียวัตถุ ได้แก่ ซากพืช ซากต้นไม้
ใบไม้ที่ย่อยสลายอย่างช้า ๆ กลายเป็นดินพีท (peat) หรือดินอินทรีย์ที่มีลักษณะหยุ่นยวบเหมือนฟองน้ำ
มีความหนาแน่นน้อย อุ้มน้ำได้มาก อีกทั้งพบว่ายังมีการสะสมระหว่างดินพีทกับดินตะกอนทะเลสลับชั้นกัน
2-3 ชั้น ทั้งนี้ เพราะน้ำทะเลเคยมีระดับสูงขึ้นจนท่วมป่าพรุ
ทำให้เกิดการสะสมของตะกอน เมื่อน้ำทะเลถูกขังอยู่ด้านใน และพันธุ์ไม้ในป่าพรุตายไป
ก็เกิดป่าชายเลนขึ้นมาแทนที่ ครั้นระดับน้ำทะเลลดลงและมีฝนตกลงมาสะสม
ได้ชะล้างความเค็มจากน้ำที่ขังไปทีละน้อย ค่อย ๆ กลายเป็นน้ำจืด
และก่อเกิดเป็นป่าพรุขึ้นอีกครั้ง ซึ่งดินพรุชั้นล่างนั้นมีอายุถึง 6,000-7,000 ปี ส่วนดินพรุชั้นบนอยู่ระหว่าง 700-1,000 ปี
ระบบนิเวศของป่าพรุ
ระบบนิเวศของป่าพรุคือความน่าทึ่งของธรรมชาติ
ที่สร้างสรรค์ให้ทุกชีวิตล้วนมีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันอย่างน่าเรียนรู้
คุณจะพบไม้ยืนต้นที่มีระบบรากแขนงแข็งแรงแผ่ออกไปเกาะเกี่ยวกัน
เพื่อจะได้ช่วยพยุงลำต้นของกันและกันให้ทรงตัวอยู่ได้
และนี่เองที่ทำให้ต้นไม้ในป่าพรุอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม หากต้นใดล้ม
ต้นอื่นจะล้มตามไปด้วย ทั้งนี้ พันธุ์ไม้ที่พบในป่าพรุนั้น มีกว่า 400 ชนิด บางอย่างนำมารับประทานได้ เช่น หลุมพี ซึ่งเป็นไม้ในตระกูลปาล์ม
มีลักษณะต้นและใบคล้ายปาล์ม แต่มีหนามแหลมอยู่ตลอดก้าน ผลมีลักษณะคล้ายระกำ
แต่เล็กกว่า รสชาติออกเปรี้ยว ชาวบ้านนำมาดองและส่งขายไปยังประเทศมาเลเซีย
โดยฤดูเก็บลูกหลุมพีจะอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม หากนอกฤดูกาลแล้ว
จะหายากและมีราคาสูง ขณะเดียวกันไม้บางอย่างก็เป็นพืชพรรณในเขตมาเลเซีย เช่น
หมากแดง ซึ่งมีลำต้นสีแดง เป็นปาล์มชั้นดี ขายได้ราคางาม
และมีผู้นิยมนำไปเพาะเพื่อประดับสวน เนื่องจากความสวยของกาบ ใบ
และลำต้นที่มีสีแดงดังชื่อ นอกจากนี้ในป่าพรุยังมีพืชอีกหลายชนิดที่น่าสนใจ เช่น
ปาหนันช้าง อันเป็นพืชในวงศ์กระดังงาที่มีดอกใหญ่ และกล้วยไม้กับพืชเล็ก ๆ
ซึ่งต้องสังเกตดี ๆ จึงจะพบเห็น
สัตว์ประจำถิ่น
ในป่าพรุนั้นมีสัตว์ป่าที่พบกว่า 200 ชนิด เช่น ค่าง ชะมด หมูป่า หมีขอ แมวป่าหัวแบน
อันเป็นสัตว์คุ้มครองที่หายากชนิดหนึ่งของไทย หนูสิงคโปร์
ที่พบค่อนข้างยากในคาบสมุทรมลายู แต่กลับมีชุกชุมบนเกาะสิงคโปร์
สำหรับประเทศไทยพบในป่าพรุโต๊ะแดงนี้เท่านั้น และหากป่าพรุถูกทำลาย
หนูเหล่านี้อาจออกไปทำลายผลิตผลของเกษตรกรในพื้นที่โดยรอบได้ ส่วนพันธุ์ปลาที่พบ
ได้แก่ ปลาปากยื่น ที่เป็นปลาชนิดใหม่ของโลกซึ่งพบที่ป่าพรุสิรินธรนี้เท่านั้น
ปลาดุกรำพัน ที่มีรูปร่างคล้ายงู
ซึ่งอาจพัฒนาเป็นปลาเศรษฐกิจที่ใช้เลี้ยงในแหล่งที่มีปัญหาน้ำเปรี้ยวได้ ปลากะแมะ
รูปร่างประหลาดมีหัวแบน ๆ กว้าง ๆ และลำตัวค่อย ๆ ยาวเรียวไปจนถึงหาง
มีเงี่ยงพิษอยู่ที่ครีบหลัง ปลาเหล่านี้จะอาศัยป่าพรุเป็นพื้นที่หลบภัยและวางไข่
ก่อนแพร่ลูกหลานออกไปให้ชาวบ้านใช้ยังชีพ
สวรรค์นักดูนก
นกในป่าพรุนั้นมีหลายชนิด
แต่ชนิดที่เด่นๆ ได้แก่ นกกางเขนดงหางแดง พบมากในเกาะสุมาตรา เกาะบอร์เนียว
และมาเลเซีย ในประเทศไทยพบครั้งแรกที่นี่ เมื่อปีพ.ศ. 2530
นกจับแมลงสีฟ้ามาเลเซีย
ซึ่งในประเทศไทยจะพบที่ป่าพรุสิรินธรเพียงแห่งเดียวเท่านั้น
และปัจจุบันนกทั้งสองชนิดอยู่ในภาวะล่อแหลม เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
ฤดูกาลเหมาะสม
คุณสามารถสัมผัสความเย็นสบายภายในป่าพรุได้เกือบตลอดทั้งปี
เนื่องจากป่าพรุมีสภาพภูมิอากาศแบบคาบสมุทร มีฝนชุกตลอดทั้งปี
แต่ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการท่องเที่ยวป่าพรุ คือระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน
เพราะเป็นช่วงที่ฝนตกน้อยที่สุด ทำให้สามารถเดินชมป่าพรุได้สะดวกสบายกว่าช่วงเวลาอื่น
กิจกรรมน่าทำ
นักท่องเที่ยวสามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์ความสุขจากป่าพรุได้มากมาย
ส่วนเด็กๆ ก็สามารถเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตจากธรรมชาติจริงที่เขาได้พบเห็น
เพราะเพียงแค่เดินชมธรรมชาติเงียบๆ อาจได้เห็นสัตว์ป่ากำลังหาอาหารอยู่
เพียงเท่านี้ก็สามารถกระตุ้นการเรียนรู้ได้มากมายแล้วสำหรับเจ้าตัวเล็ก
การเดินชมธรรมชาติของป่าพรุต้องเดินในเส้นทางที่จัดเตรียมไว้ซึ่งเป็นเส้นทางที่นำเราเข้าไปหาธรรมชาติอย่างใกล้ชิด
ขณะเดียวกันก็ไม่ก้าวล่วงธรรมชาติมากเกินไปนัก ถ้าหากคุณนำคู่มือดูนก สมุดบันทึก
ดินสอสี กล้องส่องตา กล้องถ่ายรูป และยาทากันยุงไปด้วย
อาจเพลิดเพลินอยู่ภายในป่าพรุได้ตลอดทั้งวัน
ทั้งนี้
ภายในศูนย์ฯ ได้จัดให้มีทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ
เพื่อประชาสัมพันธ์ความรู้ด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับธรรมชาติของป่าพรุ โดยเริ่มที่บึงน้ำด้านหลังอาคารศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร
มีลักษณะเป็นสะพานไม้ต่อกัน ลัดเลาะเข้าไปในป่าพรุ ระยะทาง 1,200 เมตร บางช่วงเป็นสะพานไม้ร้อยลวดสลิง
บางช่วงเป็นหอสูงสำหรับมองทิวทัศน์เบื้องล่าง ที่ชอุ่มไปด้วยพรรณไม้ในป่าพรุ
อีกทั้งตลอดทางจะพบป้ายชื่อต้นไม้ที่น่าสนใจอยู่ตลอด
รวมทั้งซุ้มความรู้ที่ตั้งอยู่เป็นจุดๆ ที่นี่เปิดทุกวัน เวลา 08.00-16.00 น. ไม่เสียค่าเข้าชม
นอกจากนี้ยังมีห้องจัดนิทรรศการให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวที่มาชมอีกด้วย
การเดินทาง
โดยรถไฟ : การเดินทางจากกรุงเทพฯ
ด้วยรถไฟนั้น ค่อนข้างสะดวกกว่ารถประจำทาง
เพราะมีสถานีปลายทางอยู่ที่อำเภอสุไหงโกลก
เมื่อมาถึงแล้วสามารถใช้บริการรถรับจ้างจากตัวเมืองสุไหงโกลกได้
โดยรถยนต์ : จากกรุงเทพฯ
มุ่งหน้าสู่อำเภอตากใบ โดยใช้เส้นทางตากใบ - สุไหงโกลก (ทางหลวงหมายเลข 4057)
ประมาณ 5 กิโลเมตร จะพบทางแยกเล็กๆ
เข้าสู่ถนนชวนะนันท์ เข้าไปประมาณ 3 กิโลเมตร
แล้วเลี้ยวซ้ายไปอีก 2 กิโลเมตร
มีป้ายบอกทางเข้าสู่ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธรเป็นระยะ
ส่วน “ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร”
ตั้งอยู่ที่ ต.ปูโยะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เปิดให้เข้าชมทุกวัน
เวลา 8.00 - 15.30 น. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ 098-010-5736. หรือที่
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)สำนักงาน นราธิวาส โทร.0-7352-2411 , 0-7354-2345
สอบถามรายละเอียดที่
: ตู้ ปณ. 37 อำเภอสุไหงโกลก นราธิวาส 96120
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น