วันพฤหัสบดีที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2560

สรรพคุณของต้นลิเภา

ต้นลิเภา จัดเป็นเฟิร์นทอดเลื้อยพาดพันกับต้นไม้อื่นยาวได้หลายเมตร ลำต้นเป็นเหง้าสั้นมีขนสีน้ำตาลเข้มหนาแน่น มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-6 มิลลิเมตร ไม่มีเกล็ด ลำต้นเมื่อแก่จะมีสีดำและเป็นมัน ขยายพันธุ์โดยใช้สปอร์และวิธีการปักชำ เจริญเติบโตได้ในดินแทบทุกชนิด ชอบแสงแดดรำไร พบขึ้นตามป่าทั่วไป ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบ ป่าเต็งรัง ป่าผลัดใบ ป่าผลัดใบผสมทั่วทุกภาคของประเทศ




ใบลิเภา ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น แกนกลางมีลักษณะเป็นเถาเลื้อย แกนกลางใบประกอบชั้นที่ชัดเจน โคนก้านใบเป็นสีน้ำตาล ส่วนด้านบนเป็นสีเหลืองน้ำตาล มีขนสีน้ำตาล มีปีกแผ่ยื่นออกมาไม่ชัดเจนหรือไม่มี ใบย่อยออกเรียงบนแกนกลางของใบ โดยใบย่อยที่ไม่สร้างสปอร์ ก้านใบย่อยจะยาวได้ประมาณ 2-4 มิลลิเมตร แผ่นใบเป็นรูปใบหอก ปลายใบมนหรือแหลม โคนใบเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบหยักเว้าเป็นฟันปลา มีขนาดกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-7 เซนติเมตร แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ผิวใบมีขนใส หลังใบเกลี้ยง ส่วนท้องใบมีขนขึ้นประปรายตามเส้นใบ ส่วนใบย่อยที่สร้างสปอร์ที่อยู่กลางเถาขึ้นไปนั้น แอนนูลัสจะประกอบด้วยเซลล์เพียงแถวเดียว เรียงตัวในแนวขวางและอยู่ตรงยอดของอับสปอร์ เยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์เทียมจะมีลักษณะเป็นถุงเรียงซ้อนกันและมีขนใส กลุ่มสปอร์นั้นจะเกิดที่ขอบใบย่อย มีขนาดกว้างประมาณ 1.5 มิลลิเมตร และยาวได้ถึง 1 เซนติเมตร[2] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า ลักษณะของใบย่อยนั้นจะมีอยู่หลายรูปร่าง เช่น ขอบขนาน ถึงรูปสามเหลี่ยมยาว ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 7-12 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร





สรรพคุณของลิเภา
-ชาวเขาเผ้าอีก้อ แม้ว มูเซอ และเย้า จะใช้ราก เหง้า ลำต้น ทั้งต้น นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการเจ็บคอ เสียงแหบ (ทั้งต้น)[1]
-ทั้งต้นมีรสจืดเย็น มีสรรพคุณเป็นยาขับเสมหะ (ทั้งต้น)
-รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการร้อนใน (ราก)
-ใบอ่อนหญ้าลิเภา (ชนิด Lygodium circinatum (Burm. F.) Sw. เข้าใจว่าใช้ได้ทั้งสองชนิด) สามารถนำมาแช่กับน้ำแล้วห่อด้วยผ้าสะอาด บีบเอาน้ำออกมาใช้เป็นยาหยอดตาแก้ตาเจ็บหรือนัยน์ตาเป็นแผล (ใบอ่อน)[5] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า น้ำคั้นจากใบก็ใช้เป็นยาหยอดตาแก้ตาเจ็บได้เช่นกัน
-ตำรายาไทยจะใช้ทั้งต้นปรุงเป็นยาแก้พิษฝีภายใน ฝีภายนอก (ทั้งต้น)
ทั้งต้นรวมรากและเหง้าใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ รักษาโรคทางเดินปัสสาวะ นิ่วในไต เลือดตกใน (ทั้งต้น)[1]
-รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปัสสาวะแดง ปัสสาวะเหลือง (ราก)
-รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาโรคริดสีดวงทวารและโรคนิ่ว (ราก)
-ราก ใบ และเถาใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้เลือดพิการ แก้ระดูมากะปริบกะปรอย (ราก, ใบ, เถา)
-ใบนำมาขยี้ใช้พอกแผลช่วยห้ามเลือด หรือใช้พอกแผลสด จะช่วยทำให้แผลแห้งและหายเร็วยิ่งขึ้น (ใบ)
-ใช้เป็นยารักษาบาดแผลและแผลพุพอง (ใบ)
-ใบใช้ตำพอกรักษาโรคหิด ผื่นแดง ฝีฝักบัว (ใบ)
ทั้งเถาและใบใช้ตำพอกปิดแผลที่อสรพิษขบกัดต่อย เป็นยาถอนพิษ แก้ฟกบวม ทำให้เย็น และช่วยแก้อาการอักเสบจากงู ตะขาบ แมงป่อง และแมลงมีพิษกัดต่อย (ทั้งต้น)
-ส่วนใต้ดิน นำมาต้มเป็นยาห่มแก้พิษจากสุนัขกัด แก้อาการจากพิษ แก้ปวด (ส่วนที่อยู่ใต้ดิน)
-ใบใช้ตำพอกป้องกันอาการปวดข้อ อาการแพลง (ใบ)
-ตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ต้นและใบย่านลิเภา ผสมกับหัวยาข้าวเย็น นำมาต้มกับน้ำดื่มต่างน้ำชา เป็นยาแก้อาการปวดเมื่อยในผู้สูงอายุ (ต้นและใบ)
-ทั้งต้นรวมรากและเหง้าใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดหลัง (ทั้งต้น)
-รากใช้ผสมกับยาอื่นเป็นยารักษาโรคมะเร็ง (ราก)



ประโยชน์ของลิเภา
ใบอ่อนและยอดอ่อนสามารถนำมาใช้ประกอบอาหารได้ เช่น แกง ผัด ต้ม นึ่ง ลวก หรือนำมารับประทานสดร่วมกับน้ำพริก ลาบ เป็นต้น ต้นสามารถนำมาใช้ทำเชือกได้ เพราะเถามีความเหนียวคงทน หรือนำมาทำเครื่องจักสานต่าง ๆ เช่น สานตะกร้า กำไล ทำกระเป๋า เครื่องประดับ ฯลฯ และล่าสุดนี้เห็นจะมีเคสโทรศัพท์มือถือที่ทำจากหญ้าชนิดนี้ออกมาจำหน่ายด้วยนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น