ชาวไทยชอบฟังคารมและปฏิภาณของลำตัด เพลงฉ่อยฉันใด ชาวไทยมุสลิมปักษ์ใต้ตลอดจนถึงชาวมุสลิมมาเลเซียก็ชอบฟังลิเกฮูลูฉันนั้น
พจนานุกรม Kamus
Dewan ของสมมาคมภาษาและหนังสือสหพันธรัฐมาเลเซียได้แจกแจงความหมายของคำว่า“ฮูลู” ไว้ 5 ประการคือ (1)
ศีรษะ (ราชาศัพท์มลายูโบราณ)
(2) บริเวณเหนือลำน้ำ (3) จุดเริ่มต้น (4)
ด้านอาวุธ (5) หมู่บ้านชนบท
การละเล่นลิเกฮูลู ตรงกับความหมายประการที่ 2 และ 5 มากที่สุด
คือ การแสดงประเภทนี้มีขึ้น ณ
หมู่บ้านชนบท ทางทิศเหนือของลำน้ำอันเป็นตัวกำเนิดแม่น้ำปัตตานี
อาจเป็นท้องที่ในอำเภอเบตง อำเภอบันนังสะตา
จังหวัดยะลา หรืออำเภอมายอ
จังหวัดปัตตานี ทางกลันตันเรียกลิเกบารัต
หรือลิเกบาฆะ หมายถึงลิเกจากทิศตะวันตกตรงกันข้ามกับทางปัตตานีเรียกลิเกฮูลู
หมายถึงลิเกจากทิศเหนือ (ลำน้ำ)
นายกูมะ ลาลอ หัวหน้าลิเกฮูลู คณะบันตัง ฆือลัป แห่งอำเภอสายบุรี
จังหวัดปัตตานี ได้เล่าว่าลักษณะกลอนที่ลิเกฮูลูใช้ขับตอบโต้นั้น
เดิมเรียกว่า “ปันตนอินัง”
ปันตน หมายถึงบทกลอนมลายู ใช้ขับร้องในการละเล่นหลายอย่าง เช่น
มะโย่งหรือรองเง็ง
ตัวอย่างปันตนอินัง
บูรงตะตือเบะ
บูรงฌือลาโตะ
ตือรือแบมือแลวอ
ตาญตะตานี
มีเตาะตะเบะ ซือลากอดาโตะ
ดาตูมือตือรอ ดาริชินี
นกตะตือเบะ
นกฌือลาโตะ
บินร่อนเหนือแหลมตานี
ขอคารวะพระผู้ทรงศรี
ภูบดีแลโอรสแห่งสถาน
ผู้เล่นลิเกฮูลูหลายคนมักข้ามฝั่งไปเรียนที่กลันตัน ซึ่งที่นั้นยังคงรักษาศัลปะการแสดงของมุสลิมไว้มาก ปรกติเรียนและฝึกซ้อมกันเป็นเวลาแรมเดือน สมัยโบราณไม่มีการฝึกหัดผู้หญิงเล่นลิเกฮูลู
แต่ปัจจุบันดาราลิเกฮูลูหลายคนมักเป็นผู้หญิง โดยเฉพาะคณะเจ๊ะลีเมาะมีลูกคู่เป็นคุณเธอล้วน และเป็นดาราโทรทัศน์ยอดนิยมของชาวมาเลเซีย
‘ลิเกฮูลู’
ไม่ใช่วัฒนธรรมในศาสนาอิสลาม แต่เป็นการละเล่นพื้นบ้านที่ได้รับความนิยมมากของชาวไทยมุสลิม
3 จังหวัดภาคใต้ มักแสดงในงานต่างๆ ของชาวมุสลิม เช่น มาแกปูโละ งานสุหนัด
งานเมาลิด งานฮารีรายอแล้ว ปกติการแสดงแต่ละครั้งจะแสดงในช่วงกลางคืน
และโดยทั่วไปจะนิยมแสดงเป็นสองคืน
ในส่วนของความสนุกสนานนั้นเรียกได้ว่าหากผู้มาชมยังไม่ลุกก็จะแสดงกันจนฟ้าสว่างเลยทีเดียว
ทั้งนี้ คำว่า
‘ลิเก’ หรือ ‘ดิเกร์’ เป็นศัพท์เปอร์เซีย มีความหมายไปในทางการสวดสรรเสริญพระเจ้า ส่วน ‘ลิเกฮูลู’ บ้างว่ารับแบบอย่างมาจากคนพื้นเมืองเผ่าซาไก
เรียกว่า มโนห์ราคนซาไก บ้างก็ว่าเอาแบบอย่างการเล่นลำตัดของไทยผสมเข้าไป
การละเล่น ‘ลิเกฮูลู’ จะมีลักษณะคล้ายกับการตั้งวงลำตัดหรือเพลงฉ่อยของภาคกลาง
คณะหนึ่งมีลูกคู่ประมาณ 10 กว่าคน ผู้ขับร้องมีประจำคณะอย่างน้อย 2 - 3 คน
และหากมีคนดูที่นึกสนุกก็เข้าร่วมละเล่นได้
ส่วนลูกคู่ขึ้นไปนั่งล้อมวงร้องรับและตบมือ โยกตัวเข้ากับจังหวะดนตรี
‘ลิเกฮูลู’ แบบดั้งเดิม
ขับร้องกันด้วยภาษามลายูท้องถิ่น ความสนุกสนานอยู่ที่ท่วงทำนองที่มาจากกลองรือบานา
(รำมะนา) อันคึกคัก ผสานกับเสียงฆ้อง
และการรำร่ายอย่างมีลูกเล่นของมือเขย่าลูกแซ็ก
ที่สอดคล้องไปกับท่วงท่าอันพร้อมเพรียงของลูกคู่ ทำให้ผู้ชมรอบข้างข้างเกิดอาการ ‘อิน’ ไปกับบรรยากาศอันคึกครื้น
โดยเฉพาะเด็กๆจะถึงกับโยกย้ายส่ายมือตามกันเป็นแถวเลยทีเดียว
เจ๊ะห์ปอ สาแม
หัวหน้าคณะแหลมทรายเล่าว่า เนื้อเพลงของ ‘ลิเกฮูลู’ ที่ขับร้องแต่ละครั้งนั้น
จะแต่งขึ้นเพื่อนำเสนอเรื่องราวของแต่ละชุมชนที่ไปแสดง ไม่ว่าจะเป็นทั้งสิ่งที่กำลังจะเกิด
สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว สะท้อนให้เห็นภาพชุมชนของเขาออกมา
ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภายในชุมชน หรือสิ่งดีๆในชุมชนที่ควรรักษา
เพื่อให้เกิดแรงขับเคลื่อนในการสร้างชุมชนจากภายในเอง ดังนั้นไม่ว่าจะไปแสดงที่ชุมชนใดก็ตามจะต้องเข้าไปทำการศึกษาพื้นที่นั้นเสียก่อน
เจ๊ะห์ปอ เล่าต่อว่า บางครั้งเจ้าหน้าที่รัฐจะไม่ชอบการนำเสนอเนื้อหาของ ‘ลิเกฮูลู’ เพราะมีบางส่วนไปขัดแย้งกับนโยบายที่เขากำลังจะทำ
แต่หากศิลปินพิจารณาแล้วเห็นว่านโยบายดังกล่าวไม่เหมาะสม
หรือมีผลกระทบอะไรบางอย่างกับชุมชน ก็จะสะท้อนความคิดสอดแทรกผ่านทางบทเพลงของ ‘ลิเกฮูลู’ เพื่อให้ชุมชนนั้นมาคิดร่วมกัน
ความเห็นต่างๆ สามารถถกกันผ่านเวที ‘ลิเกฮูลู’ ตรงนั้นได้เลย
“แรกๆ
ผมจะได้รับผลกระทบมากจากหน่วยงานของรัฐ เวลาแสดงในพื้นที่ตัวเอง
จะกระทบกับหน่วยงานพวกทางอำเภอ หรือการประมง เขาจะไม่ชอบ เช่น เวลาคุยเรื่องทะเล
แล้วยกปัญหาเรื่องป่าชายเลนที่ชุมชนนั้นๆ บางแห่งมีป่าชายเลน 1,500ไร่
เอามาทำนากุ้งได้อย่างไร ใครเป็นคนอนุมัติ พื้นที่ป่าชายเลน 1,500 ไร่ เหลือ 1,000
ไร่ อีก 500 ไร่ ไปไหน ใครตัดต้นไม้ไป ตัดทำไม มันอยู่ในเพลงที่เราเสนอ
เขาจึงไม่ชอบ แต่สุดท้ายเขาก็ต้องชอบ ผู้ว่าฯก็ลงมาดูป่าชายเลนที่เราปลูกไว้
เวลาแสดงในเมืองให้ผู้ว่าฯฟัง เราก็แสดงแรงๆ หน่อย คือเอาปัญหาไปบอกเลย
“ผมเคยไปแสดงในเมือง
เรื่องบ่อบำบัดน้ำเสีย ผมจะร้องเพลงฟ้องผู้ชมว่า
การจะขออนุญาตเปิดโรงงานจะต้องมีระเบียบของอุตสาหกรรม การสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียจะต้องมี
3 บ่อๆ ที่ 1 คือบ่อบำบัดน้ำเสีย บ่อที่ 2 คือบ่อบังนาย บ่อที่ 3 คือบ่อบังหน้า
ดังนั้น คนที่เกี่ยวข้องจะต้องไปดู ถ้ายอมรับว่ามี ให้บอก ผมจึงจะแสดงต่อ
เขาจะมองเราหัวแข็งเหมือนกัน เลยบอกไปบนเวทีว่า ทำอย่างนี้มันไม่ได้กระทบผมหรอก
ผมไม่ได้เดือดร้อน ผมอยู่กรุงเทพฯ แต่ลูกหลานที่อยู่ที่นี่จะมีผลกระทบ
คุณก็เป็นคนข้างนอก โรงงานมาก็เป็นคนข้างนอก ดังนั้นอย่าบอกว่าผมปากร้าย
ผมมาช่วยบอกเท่านั้น ไม่อย่างนั้นชุมชนรอบอ่าวก็ต้องย้ายไป”
‘ลิเกฮูลู’ จึงทำหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าวที่เข้าถึงชาวบ้าน
มิหนำซ้ำยังมีพลังใน ‘การดึงดูดมวลชน’ ในชุมชนอย่างมหาศาล
ครั้งหนึ่ง
ลิเกฮูลูคณะแหลมทราย
เคยแสดงที่ริมหาดบริเวณหมู่บ้านแหลมทรายให้กลุ่มทัวร์วัฒนธรรมจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยชม
สังเกตได้ว่า ผู้ชมดูจะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างไม่ขาดสาย คนที่มาก่อนก็ไม่ลุกไปไหน
ราวกับถูกพลังแห่งดนตรีและนาฏลีลาสะกดไว้
เพียงเวลาไม่นานนักก็มีผู้มาชมลิเกฮูลูเป็นร้อยคน
หัวหน้าคณะคุยว่า
การแสดงในครั้งนั้นไม่ได้บอกกล่าวกับคนในหมู่บ้านมาก่อน เมื่อเขารู้เขาได้ยินเสียง
ก็บอกกันปากต่อปาก ซึ่งหากบอกกันก่อนหน้านี้ว่าจะมีการแสดง ‘ลิเกฮูลู’ อาจมีคนมาเป็นพันคนเลยทีเดียว.
-------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น