วันศุกร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2560

ปัตตานี แหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ อารยธรรมและวิถีชีวิตที่สงบสุข

     



 เมื่อไม่นานมานี้ สำนักประชาสัมพันธ์ เขต 3 กรมประชาสัมพันธ์ นำโดย คุณธารทิพย์ ทองงามขำ ผู้อำนวยการฯ คุณสาวชนิศา ชมศิลป์ ผู้อำนวยการส่วนแผนฯ คุณภานุมาศ ปัญญามงคล หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมฯ ได้นำสื่อมวลชนภูมิภาคร่วมกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร สานสายใยไทย เพื่อใต้สันติสุข ที่จังหวัดปัตตานีและสงขลา โดยเฉพาะที่จังหวัดปัตตานี เป็นจังหวัดที่มีความสมานฉันท์ สันติสุข ประชาชนมีความเป็นอยู่อย่างสงบสุข วิถีชีวิตชุมชนพื้นบ้านที่ยังคงอนุรักษ์อย่างยั่งยืน อีกทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ได้รับการพัฒนาเพื่อเชิญชวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศได้ไปเยี่ยมชม



เริ่มจาก

มัสยิดกลาง จังหวัดปัตตานี...ตั้งอยู่ถนนยะรัง ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เมื่อปี 2497 รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นศาสนาที่ประชาชนส่วนใหญ่ของชาวปัตตานีนับถืออย่างเคร่งครัด สมควรสร้างมัสยิดกลางที่มีขนาดใหญ่และสวยงาม เพื่อเป็นศรีสง่าแก่ชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม ตลอดจนเป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจของชาวไทยมุสลิม จึงได้พิจารณาพื้นที่บริเวณถนนหลวง สายปัตตานี-ยะลา เนื้อที่ประมาณ 3 ไร่กว่า คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณสำหรับการก่อสร้าง โดย พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้น เดินทางมาวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2500 การก่อสร้างและตกแต่งใช้เวลาประมาณ 9 ปีกว่า จนถึง วันที่ 25 พฤษภาคม 2506 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ได้เดินทางมาประกอบพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ และมอบมัสยิดแห่งนี้ให้แก่ชาวไทยมุสลิมจังหวัดปัตตานี โดยตั้งชื่อว่า มัสยิดกลาง จังหวัดปัตตานี 

มัสยิดกลาง จังหวัดปัตตานี สร้างเป็นตึกคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น รูปทรงคล้ายกับทัชมาฮาล ประเทศอินเดีย ตรงกลางเป็นอาคารมียอดโดมขนาดใหญ่และมีโดมบริวาร 4 ทิศ มีหอคอยอยู่ 2 ข้าง เด่นเป็นสง่า บริเวณด้านหน้ามีสระน้ำสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ภายในมัสยิดมีลักษณะเป็นห้องโถง มีระเบียง 2 ข้าง ภายในห้องโถงมีบัลลังก์ทรงสูงและแคบเป็นที่สำหรับคอฏีบ หรือผู้บรรยายธรรม ตักเตือนมุสลิม ยืนอ่านคุฏบะฮ์ในการละหมาดวันศุกร์ หอคอย 2 ข้าง เดิมใช้เป็นหอสำหรับตีกลอง เป็นสัญญาณเรียกให้ชาวมุสลิมมาร่วมปฏิบัติศาสนกิจ ต่อมาใช้เป็นที่ติดตั้งลำโพง เครื่องขยายเสียง แทนเสียงกลอง ปัจจุบันได้ขยายด้านข้างออกไป 2 ข้าง และสร้างหอบังหรืออะซาน พร้อมขยายสระน้ำและที่อาบน้ำละหมาดให้ดูสง่างามยิ่งขึ้น ภายในประดับด้วยหินอ่อนอย่างสวยงาม

ศูนย์เรียนรู้การท่องเที่ยวอารยธรรมปัตตานี...ตั้งอยู่ที่ ตำบลตันหยงลุโละ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เกิดจากความร่วมมือของชุมชนในตำบลตันหยงลุโละ เครือข่ายชุมชนท่องเที่ยวปัตตานี สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดปัตตานี สร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อศึกษาเรียนรู้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและวิถีชุมชนของชาวปัตตานี ในอดีตนั้นเมืองปัตตานีเคยเป็นศูนย์กลางของการค้าขายที่มีร่องรอยทางประวัติศาสตร์ แม้แต่ชื่อของตำบลตันหยงลุโละ มาจาก คำว่า ตันหยง หมายถึง แหลมตันหยง ลุโละ หมายถึง เพชร พลอย ของมีค่า รวมความแล้วหมายถึงแหลมที่เต็มไปด้วยเพชรพลอยและของมีค่า เป็นตำบลที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพย์ในดิน สินในน้ำ บริเวณฝั่งทะเลเหมาะสำหรับเพาะเลี้ยงหอยแครงและทำนาเกลือ

ภายในศูนย์นักท่องเที่ยวจะได้รับฟังการบรรยายสรุปภาพรวมทั้งหมดของจังหวัดปัตตานี ภายในห้องประกอบด้วยพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินทรงมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจในจังหวัดปัตตานี ห้องแสดงแหล่งท่องเที่ยววิถีชีวิตของชุมชนทั้ง 10 แห่ง ได้แก่ ชุมชนทรายขาว ชุมชนยะรัง ชุมชนยะหริ่ง ชุมชนบางปู ชุมชนบราโหม ชุมชนแหลมโพธิ์ ชุมชนตันหยงลุโละ ชุมชนตุยง ชุมชนจะบังติกอ ชุมชนน้ำบ่อ มีห้องจำลองสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมไทย-มุสลิม วัฒนธรรมไทย-พุทธ วัฒนธรรมไทย-จีน ห้องแสดงวิถีชีวิตชาติพันธุ์ของชาวปัตตานีในอดีต ห้องแสดงประเพณีการแต่งงานของชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู บริเวณด้านหน้าศูนย์เป็นที่ตั้งของมัสยิดกรือเซะ สุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว และร้านค้าของฝากของที่ระลึก

มัสยิดกรือเซะ...หมู่บ้านกรือเซะ เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ห่างจากตัวเมืองปัตตานี 6 กิโลเมตร มีสถานที่สำคัญหลายแห่ง เช่น มัสยิดกรือเซะ สุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว และแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ โบราณสถานสำคัญทางประวัติศาสตร์ เช่น คูเมือง ป้อมปราการ ที่หล่อปืนใหญ่ บ่อน้ำโบราณ เตาเผาเครื่องถ้วยชาม จุดขนถ่ายสินค้า จุดเรือจม นาเกลือโบราณ สุสานเจ้าเมือง สุสานชาวต่างประเทศ สุสานนักรบปัตตานี ฯลฯ สำหรับมัสยิดกรือเซะ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ขนาดกว้าง 15.10 เมตร ยาว 29.60 เมตร สูง 6.50 เมตร เสาทรงกลม เลียนแบบเสาโคชิดของยุโรป ช่องประตูหน้าต่างมีทั้งแบบโค้งแหลมและโค้งมน โดมและหลังคายังก่อสร้างไม่เสร็จ อิฐที่ใช้ก่อมีลักษณะสมัยกรุงศรีอยุธยา ตรงฐานมัสยิดมีอิฐรูปแบบคล้ายอิฐสมัยทวารวดีปะปนอยู่บ้าง จากตำนานคำบอกเล่าสืบทอดกันมาว่า มัสยิดกรือเซะสร้างไม่เสร็จ เนื่องจากคำสาปแช่งของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว แต่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือตำนานก็ตาม สำหรับชาวมุสลิมแล้วเชื่อถือศรัทธาว่า เป็นศาสนสถานที่สำคัญสูงสุดของศาสนาอิสลาม เป็นมัสยิดแห่งแรกในภูมิภาคนี้ที่สร้างแบบสถาปัตยกรรมตะวันออกกลาง และเป็นต้นแบบของมัสยิดสมัยใหม่ที่แพร่หลายในเวลาต่อมา มัสยิดกรือเซะสร้างในสมัยสุลต่านมูซัฟฟาร์ซาร์ เป็นเจ้าเมืองปัตตานี ประมาณ พ.ศ. 2073-2017 กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ. 2478 และซ่อมแซมเมื่อปี พ.ศ. 2500 ปี พ.ศ. 2525 และ ปี พ.ศ. 2547 ตามลำดับ เพื่อให้มัสยิดกรือเซะคงสภาพการเป็นโบราณสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และเป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจจนถึงปัจจุบัน

ชุมชนท่องเที่ยวบางปู...ชุมชนบางปู มีความโดดเด่นด้านการท่องเที่ยวทางธรรมชาติและท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีป่าชายเลนที่สมบูรณ์ สวยงามด้วยป่าโกงกาง อุดมด้วยสัตว์น้ำและนกนานาพันธุ์ ฝูงนกที่บินโฉบไปมาฝูงใหญ่สร้างรวงรังบนเกาะกลางน้ำ ในคืนเดือนแรมจะมองเห็นหิ่งห้อยจำนวนมากเปล่งแสงระยิบระยับยามค่ำคืนบริเวณป่าโกงกาง มีกิจกรรมล่องเรือของชุมชนบางปู เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ชักชวนนักท่องเที่ยวได้ชมธรรมชาติ นกนอนรังจำนวนมากดั่งดอกไม้ทะเลยามค่ำคืน เพลิดเพลินกับการตกปลาในอ่าวปัตตานี ลงเล่นทะเลโคลนจับหอย จับปู ศึกษาดูงานกลุ่มเลี้ยงปลากะพง กลุ่มเลี้ยงปูนิ่มตามธรรมชาติของป่าชายเลน ชมความมหัศจรรย์ของอุโมงค์ป่าโกงกางที่ยาวกว่า 1 กิโลเมตร และเป็นหนึ่งเดียวในประเทศไทย สิ่งหนึ่งที่จะขาดไม่ได้คือ อาหารพื้นเมืองรสเลิศ เช่น ยำสาหร่ายผมนาง ไส้กรอกเนื้อ ขนมรังผึ้ง หรือภาษาท้องถิ่นเรียกว่า มาดูฆาตง สำหรับป่าชายเลนยะหริ่งนั้น เป็นป่าชายเลนที่อยู่บริเวณอ่าวปัตตานี ในพื้นที่อำเภอยะหริ่ง เป็นป่าชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์และระบบนิเวศที่เหมาะสม มีน้ำทะเลขึ้นถึงเป็นประจำ คลื่นลมไม่แรง เนื่องจากมีแหลมคอยกำบังลม บริเวณปากแม่น้ำเป็นป่าชายเลน มีลำคลอง 3 ส่วน ไหลออกสู่ทะเล คือ คลองกอ คลองตือเงาะ และคลองบางปู มีพรรณไม้หลากหลายมากกว่า 34 ชนิด เช่น โกงกาง แสมดำ ลำพู โพทะเล ป่าชายเลนแห่งนี้มีความสำคัญทางนิเวศวิทยาและเศรษฐกิจชุมชนรอบอ่าว ได้พึ่งพิงใช้ประโยชน์จากป่าชายเลนมาช้านาน เช่น การใช้ไม้ป่าชายเลนมาสร้างท่าจอดเรือ ทำกระชังปลา ทำซั้งล่อปลา รวมทั้งเป็นไม้ใช้สอย และที่สำคัญคือ เป็นแหล่งประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน ชุมชนได้เล็งเห็นประโยชน์ดังกล่าว จึงมีจิตสำนึกและตระหนักที่ร่วมกันอนุรักษ์ป่าชายเลนให้คงอยู่อย่างยั่งยืน รวมทั้งสนับสนุนให้ป่าชายเลนเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศวิทยา และมีการจัดการที่ดี ชุมชนบางปูได้รวมกันเป็นกลุ่มท่องเที่ยว มีบุคคลต้นแบบเครือข่ายประมงท่องเที่ยวพื้นบ้าน คือ คุณแวฮาซัน หะยีสอเฮาะ โทรศัพท์ (086) 969-7748 บุคคลต้นแบบท่องเที่ยวเชิงนิเวศคือ คุณคมกริช เจะเซ็ง และ คุณเจะสตอปา เจะมะ โทรศัพท์ (088) 389-4508, (081) 388-3046

วัดช้างให้...ตั้งอยู่ที่ ตำบลควนโนรี อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ติดกับทางรถไฟสายใต้ ระหว่างหาดใหญ่-ยะลา สร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน ทราบว่าเป็นวัดที่หลวงพ่อทวดจำพรรษา และมีฉายาว่า หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด วัดช้างให้จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดปัตตานี

ชุมชนทรายขาว...เป็นชุมชนใหญ่แห่งหนึ่งของอำเภอโคกโพธิ์ ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มสลับพื้นที่ราบสูง ติดแนวเทือกเขาสันกาลาคีรีที่เป็นแนวเชื่อมต่อจังหวัดยะลา ปัตตานี และจังหวัดสงขลา ชุมชนทรายขาวเป็นชุมชนที่บ่งบอกถึงความสมานฉันท์สามัคคีของชาวบ้านทั้งไทยพุทธและชาวไทยมุสลิม ไม่แบ่งแยกศาสนา มีความรักใคร่กลมเกลียว ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ความสัมพันธ์เหนียวแน่นอันดีงามนี้มีมายาวนานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ เป็นภูมิคุ้มกันที่ดีของชุมชนทรายขาว มนต์เสน่ห์ด้านการท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเยือน เช่น น้ำตกทรายขาว หน้าผาหินรูปงู ที่เรียกผาพญางู มัสยิดเก่าแก่ที่มีอายุมากกว่า 300 ปี

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรน้ำตกทรายขาว...ตั้งอยู่ หมู่ที่ 5 ตำบลทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ ได้รับการสนับสนุนจากโครงการผลิตอาหารฮาลาลในพื้นที่ 5 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ ปี 2556 โดยศูนย์พัฒนาสังคม หน่วยที่ 30 ปัตตานี สำนักงานส่งเสริมและวิชาการ 12 จังหวัดสงขลา มีสมาชิก 35 คน จัดแบ่งหน้าที่ออกเป็นฝ่ายบริหาร ฝ่ายผลิต ฝ่ายบัญชี ฝ่ายการตลาด ฝ่ายจัดซื้อวัตถุดิบ ฝ่ายตรวจสอบ คณะกรรมการประกอบด้วย คุณเครือวัลย์ สุวรรณรัตน์ คุณวรรณา ไผ่สีดำ คุณบุญสม พรหมรักษา คุณสมศรี พรหมตัน คุณจำรัสศรี หรหมโหต คุณผาติรัตน์ พรหมรักษา ที่ปรึกษา คุณจำรูญ แก้วลอย คุณอรุณี จันทร์หอม คุณสุณี จันทร์เพชร คุณชุติมา เศียรอินทร์ ผลิตภัณฑ์ผลไม้ที่กลุ่มส่งจำหน่าย ได้แก่ กล้วยเส้นอบแห้ง ตะลิงปลิงแช่อิ่มอบแห้ง ส้มแขกแช่อิ่มอบแห้ง ส้มแขกเส้น และไม้ผลอื่นๆ ตามฤดูกาล บุคคลต้นแบบเครือข่าย หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ คือ คุณจำรูญ แก้วลอย โทรศัพท์ (087) 293-2514

มัสยิดโบราณบาโงยลางา หรือ มัสยิดนัจมุดดีน...เป็นศาสนสถานในศาสนาอิสลาม ก่อสร้างแบบผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมไทยและมุสลิม จึงมีลักษณะคล้ายศาลาการเปรียญของไทย สันนิษฐานว่า สร้างในปี พ.ศ. 2177 โดยความร่วมมือของชาวบ้านทั้งไทยและมุสลิม ใช้ไม้ตะเคียนและไม้แคทั้งต้น ใช้ลิ่มไม้ตอกยึดแทนตะปู หลังคามุงด้วยกระเบื้องอิฐแดง นอกจากนี้ ยังมีวัตถุโบราณคือ กลอง หรือนางญาที่ทำจากต้นไม้ขนาดใหญ่ นำมาคว้านตรงกลาง ใช้หนังควายเพื่อขึ้นหน้ากลอง ลิ้นดึงหนังกลองทำจากไม้ไผ่ซ่อนอยู่ด้านใน เมื่อมีคนตีกลองลิ้นไม้ไผ่จะสั่น ทำให้เสียงไพเราะขึ้นและมีเสียงดังไปได้ไกล 3 กิโลเมตร จะใช้ตีกลองเพื่อบอกเวลาให้สมาชิกในชุมชนทราบว่า ถึงเวลาที่ต้องมาร่วมกันละหมาด และใช้เตือนภัยเมื่อมีเหตุร้ายเกิดขึ้น

พระปางยมกปาฏิหาริย์ หรือ พระพุทธมหามุนินทโลกนาถ...ประดิษฐานที่ไหล่เขาเทือกเขาสันกาลาคีรี เป็นพระพุทธรูปในอิริยาบถประทับนั่งบนบัลลังก์ ห้อยพระบาททั้ง 2 ข้าง วางบนดอกบัวที่รองรับ เข่ายกตั้งแบบประทับบนเก้าอี้ พระหัตถ์ซ้ายวางบนตัก พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมออก จีบนิ้วพระหัตถ์ สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ลงพระนามาภิไธยบนก้อนหินขนาดใหญ่ ณ จุดชมวิว อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2514

นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นไปนมัสการพระปางยมกปาฏิหาริย์ได้ โดยมีชมรมมัคคุเทศก์ของชุมชนทรายขาว นำรถจี๊ปโบราณที่สะสมไว้มากกว่า 30 คัน นำเที่ยวทุกวัน ในเส้นทางผ่านอุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว ผาพญางู น้ำตกทรายขาว ถ้ำทรายขาว และแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ภายในตำบลทรายขาว บุคคลต้นแบบท่องเที่ยวเชิงนิเวศคือ คุณชนินทร์ เศียรอินทร์ โทรศัพท์ (081) 094-6016

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น