วันอังคารที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2560

"ของดีตากใบ..... "ปลากุเลาเค็ม""



ปลากุเลาตากใบ ราชาแห่งปลาเค็ม 
โอทอปขึ้นชื่อแห่งนราธิวาส

            ปลาที่ “คนกินไม่ได้ซื้อ คนซื้อไม่ได้กิน”นี่คือสำนวนที่ชาวตากใบมักจะพูดเล่นๆถึงสรรพคุณความอร่อยของ “ปลากุเลาตากใบ” ที่คนส่วนใหญ่เมื่อได้ลิ้มลองต่างติดใจในรสชาติ จนได้รับฉายาว่าเป็น“ราชาแห่งปลาเค็ม”
            ปลากุเลาตากใบ เป็นปลากุเลาเค็มผลิตภัณฑ์ชุมชนสินค้าโอทอประดับ 5 ดาวของ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ที่เป็นการตกผลึกภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สั่งสมกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เกิดเป็น “ภูมิปัญญาปลาเค็ม” อันเลื่องชื่อลือชาในความอร่อย(มาก)เหนือกว่าปลาเค็มทั่วๆไป โดยเคล็ดลับความอร่อยของปลากุเลาตากใบนั้น อยู่ที่การคัดเลือกปลาที่มีคุณภาพ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ปลาสดใหม่ที่จับได้ใน อ.ตากใบและในทะเลนราธิวาสเท่านั้น

             เมื่อได้ปลาสดใหม่มา จากนั้นก็จะนำปลามาเข้าสู่กระบวนการผลิตที่ทำอย่างพิถีพิถัน ที่แม้แต่ละเจ้าจะมีสูตรใครสูตรมัน แต่ก็มีกระบวนการหลักคล้ายๆกัน ได้แก่ เมื่อได้ปลาสดใหม่มาแล้วก็จะมาขอดเกล็ด ควักไส้ เครื่องในทิ้ง ล้างทำความสะอาด จากนั้นนำเกลือยัดไปในท้องและนำปลาไปหมักเกลือ(สูตรใครสูตรมัน)ในภาชนะที่ปิดฝามิดชิด เมื่อหมักได้ที่แล้วจึงนำล้างน้ำตากด้วยการผูกเชือกที่หางห้อยหัวลง โดยปลาตัวใหญ่ต้องให้กระดาษห่อหัวปลา เพื่อป้องกันแมลงวันมาไข่ ส่วนปลาตัวเล็กไม่ต้องห่อ

            ครั้นเมื่อตากได้ระยะเวลากำหนดก็เสร็จสิ้นนำออกขายได้ ซึ่งปัจจุบันหลายๆร้านจะมีผลิตภัณฑ์บรรจุลงในกล่องอย่างสวยงามเรียบร้อย โดยปลากุเลาตากใบทั้งหมดเขายืนยันในเรื่องของการเป็นปลาปลอดสารเคมี
            และด้วยความอร่อยขึ้นชื่อ ทำให้ปลากุเลาตากใบมีสนนราคาขายที่แพงเอาเรื่อง ปัจจุบันตกอยู่ที่กิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 1,200-1,500 บาท ซึ่งก็ทำให้ชาวตากใบหรือชาวนรามักจะซื้อหาไปเป็นของกำนัลผู้หลักผู้ใหญ่ หรือส่งไปให้กับคนที่นับถือกัน จนเกิดเป็นคำพูดเล่นๆว่า “ปลากุเลาตากใบ เป็นปลาที่คนกินไม่ได้ซื้อ คนซื้อไม่ได้กิน” ดังที่กล่าวมาข้างต้น

           อย่างไรก็ดีแม้ราคาปลากุเลาตากใบจะได้ชื่อว่าแพงกว่าปลาเค็มทั่วๆไป แต่ดูเหมือนจะไม่เป็นอุปสรรคต่อผู้ที่พิสมัยในการกิน เพราะมีคนสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมากจนชาวบ้านที่ตากใบทำปลากุเลาส่งขายกันไม่ทัน ดังนั้นใครที่อยากกินปลากุเลาจึงต้องโทร.สั่งจองจากร้านที่รู้จักก่อน และบางทีต้องรอเป็นเดือน ขึ้นอยู่กับฤดูกาลที่มีปลามากหรือน้อยหรือไม่มีปลา โดยในช่วงที่มีปลาเยอะจะอยู่ในช่วงเดือน พ.ย. - มี.ค.

             ส่วนใครที่มีโอกาสไปตากใบแล้วลองเสี่ยงไปสั่งซื้อปลากันที่หน้าร้านแบบไม่ได้สั่งจอง ถ้าใครโชคดีได้ปลากุเลามากินก็มีคำพูดเล่นๆว่า คนจะกินปลากุเลาตากใบ ไม่ใช่แค่มีเงินอย่างเดียว แต่ต้องมี “บุญ”ด้วย 
             ขณะที่ผู้ที่จะลองกินเมนูปลากุเลาตากใบตามร้านอาหารนั้นก็ไม่ใช่จะหากินกันได้ง่ายๆ แม้ขนาดร้านอาหารชื่อดังประจำ อ.ตากใบ อย่าง “ร้านนัดพบยูงทอง” ยังมีข้อกำหนดในการขายเมนูปลากุเลาตากใบทอดให้ลูกค้า คือ ขายโต๊ะเดียว จานเดียว หรือขายให้โต๊ะละจานเท่านั้น เพราะเขาขอสงวนไว้ให้กับลูกค้าอื่นๆด้วย เนื่องจากเป็นของหายาก 
      และนี่ก็คือมนต์เสน่ห์ความอร่อยของ “ปลากุเลาตากใบ” ราชาแห่งปลาเค็ม ปลาที่ “คนกินไม่ได้ซื้อ คนซื้อไม่ได้กิน” แห่ง จ.นราธิวาส

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น