วันจันทร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2560

ตันหยงเปาว์ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี การต่อสู้ให้เป็นพื้นที่ปลอดอวนลากอวนรุนสู่ "ธุรกิจประมงต้นแบบ ผลิต กะปิ-ปลากุเลาเค็มกางมุ้ง คุณภาพสู่ผู้บริโภค"

นายมูหามะสุกรี มะสะนิง นายกสมาคมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี กล่าวกับสถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานีว่าสมาคมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานีเกิดจากการรวมตัวของเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านในจังหวัดปัตตานี จำนวน 52 หมู่บ้าน ประชากร 83,000 กว่าคน เรือประมงจำนวน 2,900 กว่าลำ จุดเริ่มต้นคือการอนุรักษ์ทรัพยากร ตั้งแต่ปี 2535 เป็นการรวมตัวของเครือข่ายฯเพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากร เมื่อก่อนเครือข่ายฯสู้เรื่องอวนรุนอวนลาก ปัตตานีมีเรืออวนรุนอยู่ 400 กว่าลำ ตอนนี้เรียกได้ว่าปัตตานีเป็นจังหวัดเดียวที่ปลอดเรืออวนรุนเพราะสู้ผลักดันให้รัฐบาลออกประกาศกระทรวงเรื่องห้ามใช้เครื่องมืออวนรุนในท้องที่จังหวัดปัตตานี ถ้ามีใครมาพูดว่าให้ทำธุรกิจประมงลักษณะอย่างนี้เมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว คงไม่ทำเพราะเมื่อก่อนทรัพยากรยังไม่อุดมสมบูรณ์พอ แต่ ณ ตอนนี้กล้าพูดได้ว่าจากการที่มีเครือข่ายฯทำเรื่องการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรกล้าพูดได้ว่าปัตตานีเป็นจังหวัดที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์มาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานโครงการพระราชดำริการทำปะการังเทียมมาช่วย ประกอบกับความร่วมมือของพี่น้องชาวประมงและผู้หลักผู้ใหญ่ในจังหวัดปัตตานีเห็นความสำคัญเรื่องการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากร ณ ตอนนี้มีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์มาก

Mahama sukri masaning Donrak fish 08 Donrak fish 03

“เรามีการทำปฏิทินผลผลิตของเรา ปรากฏว่าเครือข่ายของเราสามารถที่จะจัดหาวัตถุดิบทรัพยากรสัตว์น้ำได้ 40 ชนิด ณ ตอนนี้ที่นี่เราทำเรื่องส่งอาหารทะเลสดขึ้นไปที่โรงแรมแมริออท โรงแรมไฮแอท เอราวัณ กลางน้ำ ที่กรุงเทพมหานคร เรามีเครือข่ายของเราที่กรุงเทพฯโครงการเกษตรสัตว์น้ำอินทรีย์เป็นตัวรับและส่งไปยังผู้ที่สั่ง อาหารทะเลสดที่นี่ขึ้นชื่อมากคือปลาอินทรีย์สด ปลาอินทรีย์ที่ได้จากเครื่องมือตกเบ็ด เครื่องมืออวนปลาอินทรีย์ และเบ็ดราว เรามีปลาอินทรีย์ ปลาเก๋า ช่อนทะเล สากเหลือง อีโต้มอญ ปลาโอ ปลากะพงขาว ปลาตัวใหญ่อย่างที่เห็น”นายมูหามะสุกรีกล่าวและว่า

ลักษณะนี้เราไปวางอวนปลากะพงติดตั้งแต่ช่วงกลางวันก็เลยทำให้เป็นสีขาว อันนี้เราไม่ส่งเพราะปลาไม่สดพอ เอามาทำเป็นเนื้อตากเค็ม เรามีแหล่งวัตถุดิบที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ พูดถึงปลากุเลา เรามักจะนึกถึงอำเภอตากใบ ที่จริงตากใบก็เอาวัตถุดิบจากเราไปแล้วแปรรูป 70 % ที่ตากใบคือปลากุเลาจากบ้านเรา เลยมาคิดว่าแล้วทำไมเราไม่เพิ่มมูลค่าของเราเอง ประกอบกับส่วนหนึ่งเรามีองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัย ทำงานวิจัยท้องถิ่น ไปสืบค้นไปเรียนรู้ว่าในแต่ละชุมชนเขามีการแปรรูปสัตว์น้ำอะไรทำอย่างไร ภูมิปัญญาเหล่านี้ช่วยเพิ่มราคาสัตว์น้ำได้

“ตัวอย่างที่เห็นด้านนอก คือ กะปิ กุ้งเคย เดิมชาวบ้านจะขายแค่ 8-10 บาท สิ่งที่เราเจอหลังจากที่เราอนุรักษ์ฟื้นฟูอุดมสมบูรณ์ ย้อนกลับไปจะเห็นว่าตัวชาวประมงพื้นบ้านของพวกเราที่เป็นเครือข่ายเรายังยากจนอยู่เป็นเพราะว่าเราไม่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรงเลยทำให้ราคาของเราไม่ถูกอัพขึ้นมา 4 ปีราคายังเหมือนเดิมทุกอย่าง พอเราคิดทำอย่างนี้ กุ้งเคย จากเดิมราคา 8-10 บาท อัพราคาเป็น 15-17 บาท  ปลาอินทรีย์ที่เรารับซื้ออยู่ตอนนี้ราคา 220-230 บาท ขณะที่เมื่อก่อนชาวบ้านขายอยู่แค่ 180 บาท นี่คือเป้าหมายใหญ่ของเรา”แกนนำชาวประมงหนองจิกกล่าวและว่า

Donrak fish 12 Donrak fish 10 Donrak fish 05
Donrak fish 09 Donrak fish 06

การที่เรารวมตัวลักษณะแบบนี้ ทำธุรกิจตรงนี้ ล่าสุดเราพยายามสร้างมาตรฐานราคาให้เป็นธรรมกับชาวบ้านเพราะอย่างน้อยที่สุดชาวประมงพื้นบ้านคือกลุ่มคนที่จับสัตว์น้ำอย่างรับผิดชอบ เราน่าจะได้รับสิ่งดีๆจากสิ่งที่เราทำ สิ่งที่เราเคยปลูกฝังการฟื้นฟูขึ้นมา น่าจะได้ผลตอบแทน อีกประการที่เราคิดทำตรงนี้ คือว่า เราไม่ได้ส่งปลาอินทรีย์ หรือ ปลากุเลาไปอย่างเดียว แต่เราส่งปลาไปพร้อมกับเรื่องราว story สามารถบอกได้ว่าปลาอินทรีย์ที่ปัตตานีกว่าจะได้ปลาอินทรีย์เราต้องเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับปลาอินทรีย์ เราต้องเรียนรู้ว่านิสัยของปลาอินทรีย์เป็นอย่างไร การหากินของปลาอินทรีย์เป็นลักษณะอย่างไร เครื่องมือที่เราใช้เพื่อที่จะจับปลาอินทรีย์เราใช้เครื่องมืออย่างไร เราจับเฉพาะตัวใหญ่ ถ้าเป็นตัวเล็กเราปล่อยไปเพื่อให้เขาโตขึ้นมา เราทำประมงแบบรับผิดชอบ เรื่องราวเหล่านี้อยากจะสื่อสารให้กับสังคมภายนอกได้รับรู้ด้วย เขากินปลาเขาคิดถึงชาวประมง ยามใดที่เราเจอปัญหาเรื่องของประมงขึ้นมาเขาจะนึกถึงพวกเรา มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเราในอนาคต

อีกประการหนึ่งซึ่งเป็นเป้าหมาย คือ การทำธุรกิจประมงต้นแบบ พร้อมกับเป็นศูนย์เรียนรู้ ทำให้ได้มาตรฐานเพื่อที่ว่าที่อื่นจะได้มาศึกษาดูต้นแบบที่นี่ อย่างน้อยที่สุดเด็กๆได้มีโอกาสมาเรียนรู้เราสามารถที่จะปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ รายได้เศรษฐกิจของสมาชิกวันนี้ดีขึ้นมาก เราทำในนามของสมาคมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี รายได้ส่วนหนึ่งจะคืนกับไปสู่ชุมชนการที่ว่าอัพราคา ผลกำไรของเราจะถูกนำไปใช้ในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากร เดิมเราขอแหล่งทุนจากสหภาพยุโรป จังหวัดปัตตานี และ ศอ.บต. ต่อไปถ้าเราจะอนุรักษ์ฟื้นฟูเราจะมีเงินทุนที่เป็นของเราเองจากการทำธุรกิจ และใช้สนับสนุนในกิจกรรมการอนุรักษ์ฯ ต่อไป

Donrak fish 04 Donrak fish 01 Donrak fish 07 Donrak fish 13

“สิ่งที่เราทำมาโดยตลอดคือ การอนุรักษ์และการฟื้นฟูทรัพยากรให้อุดมสบบูรณ์ จนตอนนี้เรากล้าพูดว่า เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์มาก ก็เลยทำให้คณะกรรมการสมาคมฯ คิดริเริ่มจะทำธุรกิจเพื่อที่จะให้ทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีคุณภาพของพี่น้องประชาชนชาวประมงพื้นบ้านถึงมือผู้บริโภค สิ่งที่เราทำคือมาตรฐานสินค้าที่สะอาด ปลอดภัย ไม่ใช้สารเคมี ที่สำคัญ คือ ทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีคุณภาพเหล่านี้บวกกับเรื่องราวของพี่น้องชาวประมงที่เขาจับปลาอย่างรับผิดชอบจับปลาอย่างเข้าใจเงื่อนไข สิ่งเหล่านี้ คือ เรื่องราว คิดว่าในอนาคตสิ่งที่เราจะทำ คือ ธุรกิจบวกกับการเป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อเสริมให้สามเหลี่ยมเศรษฐกิจโดยเฉพาะอำเภอหนองจิกมีความเข้มแข็งและเป็นต้นแบบให้คนได้มาศึกษาเรียนรู้”นายมูหามะสุกรีกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น