วันอังคารที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2560

วัดมุจลินทวาปีวิหาร (Wat Mujalinthavapi Viharn)

วัดมุจลินทวาปีวิหาร (Wat Mujalinthavapi Viharn) ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 10 กิโลเมตร ริมเส้นทางหลวงสายปัตตานี-โคกโพธิ์ เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นเมื่อพระยาวิเชียรภักดีศรีสงครามย้ายที่ว่าการอำเภอหนองจิกจากที่เก่า มาอยู่ที่ตำบลตุยง เมื่อ ปีพ.ศ. 2388 เดิมมีชื่อว่า "วัดตุยง" ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองหนองจิก และมีพระราชศรัทธาบริจาคเงินเพื่อก่อสร้างพระอุโบสถ และทรงพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดมุจลินทวาปีวิหาร" ปัจจุบันเป็นอารามหลวงและมีการบูรณะพระอุโบสถให้อยู่ในสภาพที่มั่นคงสวยงาม

วัดมุจลินทวาปีวิหาร  เป็นพระอารามหลวง ชนิดสามัญ พระยาวิเชียรสงคราม (เกลี้ยง) เจ้าเมืองหนองจิก เป็นผู้สร้างขึ้น ในปี พ.ศ. 2388 โดยเมื่อพระยาวิเชียรภักดีศรีสงคราม (เกลี้ยง) ได้อพยพผู้คนมาตั้งเมืองหนองจิกใหม่ ณ  บริเวณตำบลตุยง  ที่ตั้งอำเภอหนองจิกในปัจจุบัน เมื่อสร้างที่ว่าการเมิงเสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านและพระอาจารย์พรหม ธมมสโร  ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของท่านได้ตระเวณเลือกชัยภูมิเพื่อสร้างวัด เล่ากันว่าท่านได้เดินทางไปพบเนินทรายขาวแห่งหนึ่งซึ่งมีต้นชะเมาใหญ่ปกคลุมเงียบสงัด  ได้เห็นเสือตัวใหญ่นอนหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เลยถือเป็นนิมิตรมงคล เลือกสถานที่แห่งนั้นเป็นที่สร้างวัด มีชื่อเรียกว่า "วัดตุยง" ตามนามหมู่บ้าน

เมื่อ พ.ศ.2433 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   เสด็จประพาสเยี่ยมเยียนพสกนิกรหัวเมืองปักษ์ใต้ ได้เสด็จมาถึงเมืองหนองจิกเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2433 วัดตุยงเป็นวัดที่ใช้ประกอบพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการในสมัยนั้น แต่พระอุโบสถและเสนาสนะยังทรุดโทรมอยู่หลายหลัง พระองค์จึงมีพระราชศรัทธาบริจาคพระราชทรัพย์ เป็นเงินจำนวน  80 ชั่ง มอบให้พระยามุจลินทร์สราภิธานนัคโรปการสุนทรกิจมหิศราชภักดี (ทัด  ณ  สงขลา) เจ้าเมืองหนองจิกไปดำเนินการก่อสร้างพระอุโบสถ แล้วพระราชทานนามวัดนี้ว่า "วัดมุจลินทวาปี-วิหาร"  เพื่อให้สอดคล้องกับนามเมืองหนองจิก (มุจลินท หมายถึง ไม้จิก, วาปี หมายถึง หนองน้ำ) และได้พระราชทานพระบรมฉายาลักษณ์แก่วัดมุจลินทรวาปีวิหารด้วย

พระยามุจลินทรฯ  ได้มอบหมายให้หลวงจีนคณานุรักษ์ (จูล่าย) หัวหน้าชาวจีนเมืองตานีเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง และให้นายอินแก้ว รัตนศรีสุข เป็นนายช่าง เริ่มก่อสร้าง เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 6 ปีขาล การก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ เมื่อวันศุกร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 12 ปีเดียวกัน มีผู้ร่วมพระราชกุศลสมทบรวมกับพระราชทรัพย์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้พระราชทานไว้  เป็นเงินค่าก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 2405 เหรียญ กับ 4 อัฐ
        
ในปี  พ.ศ.2488 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จออกตรวจราชการมณฑลปักษ์ใต้ ทราบว่าพระอุโบสถวัดมุจลินทวาปีวิหารยังไม่มีพระประธาน ดังนั้นเมื่อพระองค์เสด็จกลับกรุงเทพฯ ก็ได้อัญเชิญพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ ปางมารวิชัย  สมัยเชียงแสน  หน้าตักกว้าง  1  เมตร  4  นิ้ว  ซึ่งเป็นองค์หนึ่งในจำนวนพระพุทธรูปโบราณ 1248 องค์ ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช อัญเชิญมาจากสุโขทัยและหัวเมืองฝ่ายเหนือ ลงมาเก็บรักษาไว้ที่ระเบียงวัดพระเชตุพน-วิมลมังคลาราม  มอบให้พระยาเพชราภิบาลนฤเบศรวาปีเขตมุจลินนฤบดินทร์สวามิภักดิ์ เจ้าเมืองหนองจิกนำมาประดิษฐานเป็นพระประธานประจำอุโบสถวัดมุจลินทวาปีวิหาร
วัดมุจลินทวาปีวิหาร มีโบราณสถาน โบราณวัตถุที่น่าสนใจ ดังนี้
1.  พระเจดีย์บรรจุพระสารีริกธาตุของสมเด็จพระอรหันต์ ซึ่งพระภิกษุแดง ได้มาจากประเทศพม่า
2.  พระหล่อโลหะรูปเหมือนพระอาจารย์นวล เจ้าอาวาสองค์ที่ 3
3.  พระหล่อโลหะรูปเหมือนพระครูพิบูลย์สมณวัตร เจ้าอาวาสองค์ที่ 4
4.  พระหล่อโลหะรูปเหมือนพระราชพุทธรังษี  เจ้าอาวาสองค์ที่ 5 และพระเครื่องพระบูชา  เหรียญมงคล ของเกจิอาจารย์ทั้ง 3 องค์
5.  วิหารยอดหรือมณฑปที่ประดิษฐานพระหล่อโลหะรูปเหมือน ของเจ้าอาวาสทั้ง 3 องค์ ซึ่งสร้างเป็นสถาปัตยกรรมไทยที่ย่อส่วนมาจากพระที่นั่งไอสวรรค์ทิพย-อาสน์ ในพระราชวังบางปะอิน
5. สถูปบรรจุพระอัฐิ  ของพระยาวิเชียรภักดีศรีสงคราม  (เกลี้ยง) ผู้ว่าราชการเมืองหนองจิก และเป็นผู้สร้างวัดมุจลินทวาปีวิหาร
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
วัดมุจลินทวาปีวิหาร มีสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ คือ
1.  พระเจดีย์บรรจุพระสารีริกธาตุ  เป็นเจดีย์ใหญ่รูประฆังคว่ำ แบบลังกา ก่อด้วยอิฐถือปูน สร้างเมื่อ พ.ศ. 2429
2.  อุโบสถรูปทรงไทย ก่อด้วยอิฐถือปูน หลังคาทรงไทย 3 ชั้น
3.  กุฏิเจ้าอาวาส เป็นกุฏิชั้นเดียว ทรงไทย ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง
4.  มณฑปหรือวิหารยอด เป็นศาลาจตุรมุข ซึ่งจำลองมาจากปราสาทพระราชวังบางปะอิน
5.  พระพุทธปฏิมาประธาน เป็นพระประธานสมัยเชียงแสน (สิงห์ 1) หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์  อายุประมาณ 800 ปี
เส้นทางเข้าสู่สถานที่สำคัญ

เดินทางจากจังหวัดปัตตานี  เส้นทาง  ถนนสายปัตตานี  -  โคกโพธิ์  ประมาณ  7  กิโลเมตร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น