วันพุธที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

วัดราษฎร์บูรณะ (วัดช้างให้ | ปัตตานี)




วัดราษฎร์บูรณะ (วัดช้างให้)
หมู่ที่ ๒ ตำบลควนโนรี อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี

*************************

วัดช้างให้ มีชื่อเต็ม ๆ ว่า วัดราษฎร์บูรณะ อยู่ที่ ตำบลควนโนรี อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ห่างจากปัตตานีประมาณ 26 กิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพฯประมาณ 1,032 กิโลเมตร









ขอบคุณภาพและข้อมูลจากพันธุ์ทิพย์สมาชิกหมายเลข 2351443

การแห่ขันหมาก (บุหงาซีเร๊ะ) ประเพณีมลายูท้องถิ่นที่แสดงออกถึงฐานะฝ่ายเจ้าบ่าว




"บุหงาซีเร๊ะ" คือ การแห่ขันหมากในงานแต่งงานเป็นประเพณีมลายูท้องถิ่นที่แสดงออกถึงฐานะของฝ่ายเจ้าบ่าวในการ แห่ขันหมากไปบ้านเจ้าสาว ในขบวนขันหมากของเจ้าบ่าวประกอบด้วยพานขันหมากตามที่ตกลงกันระหว่างฝ่ายเจ้าสาวและเจ้าบ่าว แต่สำหรับพ่อแม่หญิงสาวบางคนไม่กำหนดตัวเลขของพานขันหมาก แล้วแต่ฝ่ายชายจะนำไปเท่าไร แต่ต้องเป็นจำนวนเลขคี่อย่างน้อย 5 ขัน หรือ 9 ขัน 13 ขัน แล้วแต่ความสามารถของฝ่ายชาย


สำหรับคนที่มีฐานะดีจะกำหนดขันหมากมากกว่าคนที่มีฐานะปานกลาง ซึ่งในการแห่ขันหมากนั้นจะมีการตั้งแถวขบวน ทางฝั่งเจ้าบ่าวจะทำการตั้งขบวน โดยมีพ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อนเจ้าบ่าวร่วมอยู่ในขบวน และถือสิ่งของ ขันหมากสำคัญ ๆ คือ บุหงาซีเร๊ะ ( พานหมากพลู) ข้าวเหนียวเหลือง (ปูโละซือมางะ) นำหน้าขบวน แถวถัดมามีถือถาดขนมหวานในท้องถิ่น อาทิเช่น วุ่น นาซิมานิส กะละแม เป็นต้น


โดยจะถือเป็นคู่ ถัดมาก็มีการถือถาดผลไม้ เครื่องแต่งกายของเจ้าสาว อาทิเช่น ผ้าชุด ผ้าละหมาด ผ้าโสร่ง รองเท้า ร่ม กระเป๋าสตรี เป็นต้น ซึ่งของทุกชิ้นจะจัดห่อไว้ด้วยพลาสติกหลากสีอย่างสวยงาม สร้างสีสันความสวยงานในขบวนแห่ ถัดมาก็เป็นแถวของบรรดาญาติพี่น้อง เพื่อนเจ้าบ่าวร่วมในขบวนแห่ขันหมาก ซึ่งการยกขันหมากจำนวนคนจะมามากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการเชิญของฝ่ายเจ้าบ่าวให้ร่วมในขบวนแห่ขันหมาก


สำหรับผู้ที่จะถือขันหมาก นิยมเลือกสาวๆ ญาติฝ่ายชาย คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต หรือเป็นคนที่น่านับถือ ถือขันหมาก เมื่อขบวนพร้อมแล้วก็จะมุ่งหน้าเดินแห่ขันหมากไปบ้านเจ้าสาว เมื่อไปถึงบ้านเจ้าสาว จะมีคนออกมารับขันหมาก อาจเป็นสาว ๆ หรือ ผู้มีอาวุโสซึ่งเป็นญาติๆ ของฝ่ายหญิงมารับขันหมาก ตั้งที่บังลังแต่งงาน สร้างความสวยงาม สีสันให้แขกที่มาร่วมงานจะต้องได้เห็นบังลังค์เจ้าสาว และพานขันหมากของเจ้าบ่าวที่นำมาให้เจ้าสาวว่าสวย ดูดี หรูหราหรือไหม และเชิญแขกขึ้นบ้านรับประทานอาหารร่วมยินดีกับคู่บ่าวสาว


ซึ่งประเพณีการแห่ขันหมากในงานแต่งงานเป็นบรรยากาศหนึ่งที่แขกร่วมงานต่างรอค่อยที่จะดูความสวยงามของพานขันหมาก และเจ้าบ่าว ในขบวนแห่ขันหมาก เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของประเพณีนิยมของชาวมุสลิมมลายู

--------------------


วันอังคารที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ขนมพื้นบ้านชาวไทยมุสลิม จ.ชายแดนภาคใต้

ขนมกอและห์ (กอแหละขนมกวน) ขนมหวานพื้นบ้านของชาวไทยมุสลิม จ.ยะลา ใช้เวลาทำนานมาก ทำจากแป้งข้าวเจ้าแดงกวนกับน้ำตาลทรายและน้ำตาลแว่น นึ่งให้สุกแล้วพักไว้ เคี่ยวกะทิจนมีขี้มันเป็นสีแดงเข้ม จากนั้นก็ตักราดลงบนขนม โรยหน้าด้วยมะพร้าวคั่ว


ตาแปอูปีกายู นิยมทานในโอกาสสำคัญหรือโอกาสพิเศษต่าง ๆ ปัจจุบันมีการนำไปชุบแป้งทอดด้วย




ขนมดู ขนมพื้นบ้านแถบจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสงขลา



โรตีปาแย ชาวยะลามักทานเป็นอาหารเช้า กับน้ำชา กาแฟ



ขนมอาเกาะ (อาเก๊าะ, ตือปงอาเกาะ) ปรุงจากแป้ง ไข่เป็ด น้ำตาล กะทิ เนื้อขนมคล้ายขนมหม้อแกง สังขยา รูปร่างคล้ายขนมไข่ แต่พิมพ์ของขนมอาเกาะใหญ่กว่า นิยมรับประทานในเดือนรอมฎอน 



รปะตีแก (ลอปะตีแก, กระโดดแทง) ขนมของชาวไทยมุสลิม จ.นราธิวาส หอมหวานกลมกล่อมจากกะทิที่ราดบนแป้งข้าวเจ้าผสมน้ำใบเตย ราดด้วยน้ำผึ้งโหนด



ขนมซัมบูซะ (ซัมปูซ๊ะ) หน้าตาคล้ายปอเปี๊ยะทอดแต่ทำเป็นรูปสามเหลี่ยมหรือสี่เหลี่ยม แป้งห่อทำจากแป้งโรตี ไส้มีไส้ผัก เนื้อ ไก่ กุ้ง ทานกับน้ำจิ้ม



กะโป๊ะ (ข้าวเกรียบปลาสด) ของขึ้นชื่อของนราธิวาส ทำจากปลาทุกชนิดที่ใช้ทำลูกชิ้นปลา นิยมทานเป็นอาหารว่างหรือกับแกล้ม 



ฆอเดาะ ทำโดยตีไข่ น้ำตาล ขนุน ให้เข้ากันแล้วนำไปนึ่ง นิยมทานในช่วงรอมฎอน


บูงอ (ขนมดอกไม้) ทำโดยนำแป้งข้าวเหนียว มันเทศต้ม มาผสมรวมกับแป้งและน้ำเกลือ นวดให้เข้ากัน ปั้นเป็นก้อนกลมๆ นำไปชุบไข่แล้วทอดในน้ำมันร้อนๆ ทานพร้อมกับน้ำเชื่อม นิยมทานในช่วงรอมฎอน


ขนมอาซูรอ การกวนข้าวอาซูรอ (ขนมอาซูรอ) เป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการนำสิ่งของที่รับประทานได้หลายสิ่งหลายอย่างมากวนรวมกัน มีทั้งชนิดคาวและหวาน จะใช้คนในหมู่บ้านมาช่วยกันกวนข้าว กวนโดยนำกะทะใบใหญ่ตั้งไฟ คั้นน้ำกะทิใส่ลงไป ตำหรือบดเครื่องแกงหยาบ ๆ ใส่ลงในน้ำกะทิ เมื่อกะทิเดือดใส่อาหารดิบต่าง ๆ คนด้วยไม้พายจนกระทั่งทุกอย่างเปื่อยยุ่ย กวนต่อไปจนเป็นเนื้อเดียวกัน เมื่อแห้งได้ที่แล้วตักใส่ถาด โรยหน้าด้วยไข่เจียวหั่นบาง ๆ หรืออาจโรยหน้ากุ้ง เนื้อสมัน ปลาสมัน ผักชี หอมหั่นฝอย แล้วตัดเป็นชิ้น ๆ แจกจ่ายกันทาน





ตลาดรอมฎอนสุไหงปาดีคึกคัก มุสลิมจับจ่ายซื้ออาหารจำนวนมาก












ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการละศีลอดวันที่ 2 ของเดือนรอมฎอนที่อำเภอสุไหงปาดีคึกคัก โดยมีผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามทั้งในพื้นที่ และจากประเทศมาเลเซีย ได้เดินทางมาจับจ่ายซื้ออาหารปรุงสำเร็จบริเวณตลาดรอมฎอนที่เปิดไว้ คือ ที่ตลาดสดเทศบาลตำบลปะลุรู อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ส่วนราคาอาหารนั้นในปีนี้พบว่าไม่ได้แตกต่างจากปีที่ผ่านมา โดยอาหารคาวส่วนใหญ่จำหน่ายในราคาถุงละ 30-50 บาท ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบในการประกอบอาหาร ส่วนขนมหวาน ราคาถุงละ 15-20 บาท ทั้งนี้ อาหารคาวที่นิยมซื้อไปรับประทานจะเป็นแกงแพะ แกงเนื้อ แกงส้ม แกงจืด ไก่ทอด ปลาทอด และประเภทปิ้งย่าง ที่สามารถเก็บไว้บริโภคได้ช่วงเช้าตรู่ก่อนพระอาทิตย์ขึ้นในวันถัดไป


......................................................................

ดูแล ใส่ใจ สุขภาพ ช่วง ถือศีลอด เดือน รอมฎอน

ดูแล ใส่ใจ สุขภาพ ช่วง ถือศีลอด เดือน รอมฎอน
ทุกปีในเดือน รอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่ 9 ตามปฏิทินทางจันทรคติของอิสลาม เป็นเดือนที่ชาวมุสลิมถือศีลอดทั้งเดือน ด้วยเหตุนี้จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า เดือนบวช และถือว่าเป็นเดือนที่สำคัญที่สุดเดือนหนึ่ง
นพ.ปรีชา วงศ์ศิลารัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลา ให้ข้อมูลว่า การ ถือศีลอด ตามความหมายทางศาสนาของอิสลาม คือ การงดเว้นจากการกิน การดื่ม การเสพ การร่วมประเวณีระหว่างสามีภรรยา ตลอดจนการกระทำที่ขัดกับคุณธรรม ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนถึงดวงอาทิตย์ตก ซึ่งช่วงเวลาที่อดอาหาร อดน้ำ ในแต่ละวัน และพฤติกรรมการรับประทานที่แตกต่างกันของแต่ละคน อาจทำให้ช่วงเวลาถือศีลอดยาวนานได้ตั้งแต่ 13 ถึง 20 ชั่วโมงต่อวัน เป็นเช่นนี้ต่อเนื่องกันไป 29-30 วัน จึงอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพโดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
วิธีการดูแลสุขภาพในเดือนถือศีลอดสำหรับประชาชนทั่วไป
1.รับประทานอาหารสุกใหม่ ๆ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัด เพราะจะทำให้กระหายน้ำได้ระหว่างการถือศีลอดในตอนกลางวัน
2. สำหรับอาหารมื้อเย็นควรเริ่มด้วยอาหารเหลวย่อยง่าย หลีกเลี่ยงอาหารที่ย่อยยากเพราะจะทำให้กระเพราะอาหารทำงานหนักขึ้น
3. อาหารมื้อเย็น ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารมากเกินไป เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวกระเพาะอาหารจะมีน้ำย่อยออกมามาก การรับประทานอาหารอย่างรวดเร็วจะทำให้กระเพาะอาหารปรับตัวไม่ทัน ระบบย่อยอาหารแปรปรวน เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ
หากเกิดขึ้นบ่อย ๆ อาจทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารเรื้อรังต่อไปได้
4. หลีกเลี่ยงการนอนทันทีหลังรับประทานอาหาร ต้องอย่างน้อย 2-4 ชั่วโมง เพราะการนอนหลังรับประทานอาหารทันที อาจทำให้น้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับ ทำให้ระบบย่อยอาหารแปรปรวนเกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ
5. ก่อนรับประทานอาหารหรือปรุงอาหารควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง สำหรับน้ำดื่มควร เป็นน้ำที่สะอาด เช่น น้ำต้มสุก หรือน้ำบรรจุขวดที่ได้มาตรฐาน
สำหรับโรคที่ควรหลีกเลี่ยงการถือศีลอด ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคไต ผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนไต หรือนิ่วที่ไต โรคปอดและหัวใจที่รุนแรง โรคกระเพาะ โรคลมชัก และโรคไมเกรน ซึ่งหากผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังที่ตั้งใจจะถือศีลอด ควรแจ้งให้แพทย์ที่รักษาเป็นประจำได้ทราบล่วงหน้าก่อนที่จะเริ่มถือศีลอดเพื่อขอคำแนะนำในการดูแลสุขภาพอย่างถูกต้อง หมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายเพื่อการตรวจรักษาได้ทันเวลา
นพ.ปรีชา ย้ำว่า โรคเบาหวาน เป็นโรคที่ไม่เหมาะกับการอดอาหารมากที่สุด เนื่องจากจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ จากการอดอาหาร หรือเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง จากการงดทานยารักษาเบาหวาน ดังนั้นควรให้ความใส่ใจและดูแลตนเองเป็นพิเศษ ซึ่งการถือศีลอดในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 นั้น มีความปลอดภัย หากผู้ป่วยรู้สภาวะโรคของตนเอง และสามารถปรับพฤติกรรมการกินอาหารปรับเปลี่ยนการใช้ยาอย่างถูกต้อง แต่ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 หากผู้ป่วยมีความต้องการถือศีลอด ต้องตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดช่วงตลอดวันที่ถือศีลอด ปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ จากข่าวที่พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ 2012 หรือเมิร์ส-โควี รายแรกในไทย ซึ่งในช่วงเดือนถือศีลอด พี่น้องชาวไทยมุสลิมบางส่วนอาจเดินทางไปประเทศแถบตะวันออกกลาง พื้นที่พบการระบาดของโรค เพื่อไปประกอบพิธีศาสนา จึงควรรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล หลีกเลี่ยงสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจหรือผู้ที่มีอาการไอจาม ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่ หลีกเลี่ยงการเข้าไปสัมผัสกับอูฐ หรือดื่มนมอูฐดิบ
สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคปอดเรื้อรัง โรคไตวาย หรือผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ ควรระวังเป็นพิเศษ ผู้เดินทางกลับจากประเทศที่มีความเสี่ยงเป็นเวลา 14 วัน ถ้ามีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอหลีกเลี่ยงคลุกคลีบุคคลอื่น สวมหน้ากากป้องกันโรค ล้างมือให้สะอาด และรีบไปพบแพทย์
ไม่เพียงแต่พี่น้องชาวมุสลิมเท่านั้น การรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรปฏิบัติ เพื่อการมีสุขภาพดี สร้างภูมิคุ้มกัน ปราศจากโรคภัยทั้งโรคติดต่อ และโรคไม่ติดต่อได้นพ.ปรีชา กล่าวทิ้งท้าย


เครดิต : กิดานัล กังแฮ

วันจันทร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เยือน “ตลาดเก่า” เดือนรอมฎอน หลากหลายในขนมและผู้คน



มัสยิดกลางยะลา
        ศูนย์ข่าวอิศรา - ตลาดเก่าเป็นย่านที่รับรู้กันโดยทั่วไปของชาวเมืองยะลาว่าหมายความถึง ย่านชุมชนเก่าของชาวมุสลิมที่อยู่ในเขตเทศบาลนครเมืองยะลา มีเส้นทางรถไฟคั่นกลางระหว่างกลางเมืองยะลากับตลาดเก่าอย่างชัดเจน สำหรับในช่วงวันปกติย่านตลาดเก่าแห่งนี้ก็มีผู้คนมาเดินจับจ่ายซื้อของเป็นจำนวนมาก ยิ่งเดือนรอมฎอนอย่างในทุกวันนี้ จะมีผู้คนมาจับจ่ายซื้อของมากกว่าเดิมมากกว่าปกติ เพราะที่นี่มีการอาหารหลากหลาย ในขณะที่ผู้คนที่มาซื้อและมาขายเองก็มีความแตกต่างหลากหลายไม่แพ้กัน
      
       บรรยากาศ ตลาดเก่าเริ่มคึกคักตั้งแต่ช่วงเวลาบ่ายโมงแก่ๆ จนถึงเวลาเย็นๆ ของทุกวันช่วงเทศกาลรอมฎอน เต็มไปด้วยสีสันจากอาหารทั้งกับข้าวและของหวาน ซึ่งบรรดาลูกค้าได้เข้ามาช่วยแต่งเต็มสีสันให้เต็มรูปแบบ ทำให้ตลาดเก่าคึกคักเป็นพิเศษ ผิดกับช่วงเวลาตอนเช้าซึ่งละแวกนี้เป็นแค่ริมฟุตบาทที่ว่างเปล่า ไม่มีอะไรน่าสนใจ มีเพียงรถเข็นเก่าๆ จอดอยู่บนฟุตบาทไร้ผู้คนเดินไปมา
      
       ลูกชุบ ทองยิบ ทองหยอด ขนมหม้อแกง บัวลอย และของหวานพื้นบ้านพื้นเมืองอีกหลายหลากชนิด ไม่ว่าจะเป็น อาเกาะที่มีรสชาติของไข่กับแป้งที่ถูกเผาหอมหวล ในทรงสี่เหลี่ยมราบและรูปดาว ตีรีเป็นขนมที่ทำมาจากแป้งชุบไข่ทอดเคล้ากับน้ำตาลแว่นเคี้ยวอร่อยนัก นาซิกายอหรือข้าวเหนียวอัดแผ่นกับสังขยาไข่เป็นก้อนสีเหลียมเล็กๆ และบรรดาขนมของหวานที่ค่อนข้างคุ้นเคยครัวไทยอีกมากมาย ไม่พักต้องพูดถึง กับข้าวอีกกว่าสิบอย่างที่ถูกวางเรียงรายบนรถเข็นอย่างสวยงาม ง่ายในการเลือกซื้อและสะดวกในการหยิบจับ
      
       ร้านรวงเหล่านี้มีร้อยเรียงอยู่ทั้งริมถนนใหญ่และในซอยย่อย ที่เริ่มต้นจากริมฟุตบาทแทบชานเมือง เรื่อยมาจนถึงหอนาฬิกาใหญ่หน้ามัสยิดกลางจังหวัดยะลาซึ่งพลุกพล่านเป็นพิเศษ กระทั่งถึงเนินทางเดินรถไฟ กินระยะทางได้ในราวกิโลเมตรกว่าๆ
      
       เวลาละศีลอดในวันนี้ จะเริ่มต้นในเวลาหกโมงสี่นาที แต่ชั่วโมงยังไม่ถึง 6โมงเย็นดี สีสันบนแผงขายของที่ละลานไปด้วยขนมของหวานกว่า 20 อย่างก็เริ่มร่อยหรอ แม่ค้ามาจาก บ้านยุโปอันเป็นหมู่บ้านชานเมืองแห่งหนึ่งของอำเภอเมืองยะลา เริ่มเก็บของกลับบ้านอย่างใจเย็น
      
       “ยังไม่ถึง 6 ชั่วโมงก็ขายของหมดแล้ว ก๊ะ (พี่สาว) เริ่มขายมาตั้งแต่ก่อนเข้าเดือนรอมฎอน 2 – 3 วัน เพื่อให้ลูกค้าได้รู้จักร้านก่อน เพราะเราไม่ได้ขายในช่วงปกติเดือนทั่วไป ตอนนี้คนเริ่มรู้จักกันแล้ว ของขายได้ดีมาก
      
       กลุ่มชาวบ้านที่เดินทางไกลมาจากอำเภอธารโตหลายคน แวะพักเลือกอาหารละศีลอดยามเย็นหลังเสร็จธุระกับทางราชการ บอกกับเราว่า ชอบมาซื้อของหวานที่ตลาดเก่าบ่อยมาก โดยเฉพาะ ของหวานที่วางขายหน้ามัสยิดกลางและ กับข้าวหน้าซอยมุสลิม
       
       แม้จะมีทุกอย่างให้เลือกซื้อและแตกต่างหลากหลาย แต่ลูกค้าบางรายก็มีเป้าหมายเฉพาะที่ประทับใจในรสชาติที่ถูกลิ้น คุ้นกลิ่น หรือแม้แต่บริการที่ดีของแม่ค้า
      
       นามี สาแม สาวรุ่นจาก บ้านนะกูโบ้ซึ่งห่างจากตลาดเก่าไปทางชานเมืองราว 2 กิโลเมตร ขับมอเตอร์ไซค์พร้อมหอบหิ้วน้องชายซ้อนท้ายมาทุกวันโดยใช้เวลาไม่ถึง15 นาที เธอก็มีกับข้าวพร้อมของหวานเรียบร้อยแล้ว เธอเล่าว่า มาซื้อกับข้าวสำเร็จรูปที่ตลาดเก่าทุกวันเป็นกิจวัตรด้วยหวังความสะดวก แต่หากซื้อกับข้าวจากตลาดกลับไปปรุงที่บ้าน อาจทำให้ต้องเสียเวลาไปมาก ที่สำคัญคือเหนื่อย ยิ่งเฉพาะในช่วงเย็นของเดือนรอมฎอนด้วยแล้ว ซื้อกินเป็นดีกว่า
      
       “ซื้อของหวานและกับข้าวที่เสร็จแล้วจะดีกว่า ประหยัดและไม่เสียเวลาเป็นเหตุผลที่เธออธิบายให้เรา
      
       ส่วน วิชิด จีนากุล ราษฎรชาวพุทธจาก บ้านตาชีอำเภอยะหา บอกกับเราขณะเลือกซื้อขนมหวานว่า ชื่นชอบเทศกาลถือศีลอดของพี่น้องชาวมุสลิมมาก อาจจะด้วยเพราะบ้านที่อยู่อำเภอยะหามาหลายสิบปี มีความสัมพันธ์กับมุสลิมมาก็นานเทียบเท่ากับจำนวนอายุ หรืออาจเป็นเพราะเดือนรอมฎอนทั้งเดือนยังเต็มไปด้วยของหวานและกับข้าวที่แปลกหูแปลกตากว่าปกติ เพราะในช่วงเดือนปกติอาจหาซื้อได้ยากและไม่เยอะเท่าในเดือนนี้ ที่สำคัญอาหารที่วางขายในท้องตลาดได้แข่งขันกันตกแต่งสีสันอย่างสวยงามดูน่าทานเป็นที่สุด
      
       “อยากให้มุสลิมถือศีลอดตลอดปีเขากล่าวอย่างครื้นเครงทำนองว่าจะได้กินของอร่อยตลอดทั้งปี
      
       วิชิด เล่าย้อนไปว่า ใกล้กับสวนยางของเขาที่ บ้านขวานฟ้า ในอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ครอบครัวชาวมุสลิมที่คุ้นเคยกันดีของ มะจูเนาะชาวอำเภอยะหาที่เข้ามาปลูกเพิงพักในสวนยางข้างๆ เพื่อพักเว้นระหว่างเข้ามากรีดยาง พอถึงช่วงเทศกาลเดือนรอมฎอนในทุกปี ยามเขาเดินผ่านหน้าเพิงพักหลังนั้นทีไร มะจูเนาะผู้คุ้นเคยต้องตักกับข้าวและของหวานให้ทุกครั้ง เรียกได้ว่าเกือบทุกวันตลอดทั้งเดือนรอมฎอน
      
       เขาเล่าต่อว่า บางวันจะได้กินข้าวสวยกับแกงมัสมั่น บางครั้ง มะจูเนาะจะแบ่ง นาซิกาบูดาฆะหรือ ข้าวยำพื้นบ้านรสชาติที่ต่างไปจากข้าวยำธรรมดาและที่สำคัญคืออร่อยมาก เรียกได้ว่าเป็นอาหารจานโปรดของเขาเลยทีเดียว แม้ว่าจะซื้อเครื่องมาปรุงเองก็ไม่เหมือนฝีมือของมะจูเนาะ
      
       “หากไม่ใช่เดือนรอมฎอน ผมคงไม่ได้กินของอร่อยๆ จากมะจูเนาะหรอก แกไม่ค่อยทำกับข้าวกินกัน นานๆ ครั้งเขากล่าวถึงความประทับใจต่อครอบครัวมุสลิมที่สัมผัสผ่านเดือนรอมฎอนของพวกเขา
      
       เขาเล่าว่า มะจูเนาะและครอบครัวไม่ใช่เป็นคนแปลกหน้าสำหรับเขา ย้อนกลับไปในวัยเด็กในอำเภอยะหา เขายังเคยไปเที่ยวเล่นบ้าน มะจูเนาะที่บ้านเจาะกลาดี อำเภอยะหาในช่วงเดือนรอมฎอน เขายังเคยถือศีลอดและลุกขึ้นตื่นกินข้าวหัวรุ่งกับสมาชิกในบ้าน มะจูเนาะอย่างคุ้นเคย
      
       “ตอนนั้น เวลากลางวันก็อดเหมือนกับเขาทุกอย่าง แต่ก็แอบกินน้ำไม่ให้ใครเห็นตามประสาเด็ก เมื่อถึงเวลาละศีลอดในช่วงเวลาตะวันลับฟ้าตอนเย็น ก็จะเริ่มกินพร้อมครอบครัวมะจูเนาะนั่นแหละ
      
       ไม่เฉพาะวิถีปฏิบัติในเดือนพิเศษอย่างรอมฎอนเท่านั้น ด้วยความที่ใกล้ชิดกับครอบครัวมะจูเนาะมานาน เขายังสามารถอาซาน (คำเรียกร้องให้ไปละหมาดที่มัสยิด) และท่องอัลกรุอ่านได้ในบางบท รวมทั้งเคยฟังฮาดีส หรือ วจนะของศาสดามูฮัมหมัดแห่งศาสนาอิสลาม กระทั่งทำให้เขารู้สึกว่ามีความคล้ายคลึงกันกับพระไตรปิฎกของศาสนาพุทธมาก
      
       “ในบางเวลาที่ผมว่างๆ ก็จะเปิดเทปฟังโต๊ะครูสอน การสอนของอิสลามก็เหมือนๆกันกับของคนพุทธนั่นแหละ สอนให้ทำความดีสอนแนวทางชีวิตที่ดี ทุกเรื่องที่พยายามศึกษาเรียนรู้มานั้นก็เพื่อมาปรับเพื่อให้ใช้ชีวิตร่วมกัน เพราะยังไงก็ผมก็ต้องพึ่งพากับมุสลิมในพื้นที่อีกนานเป็นเหตุผลที่เขาให้กับเรา ท่าทีเช่นนี้ ทำให้ม่ต้องสงสัยเลยว่า เทศกาลสำคัญของชาวมุสลิมอย่างเดือนรอมฎอนจะสร้างเสน่ห์ให้เขาจะมีความรู้สึกร่วมได้ถึงขั้นอยากให้มีบรรยากาศเช่นนี้ตลอดปี
      
       เพียง 3 ชั่วโมงนับตั้งแต่ช่วงบ่ายแก่ยันเย็นย่ำต่อถึงค่ำตะวันลับฟ้าไป ความคึกคักที่คลาคล่ำด้วยผู้คนมากมายมาจากทั่วสารทิศ ค่อยทยอยหายไปพร้อมกับการเริ่มต้นของการละศีลอด พักผ่อน และละหมาดในยามค่ำคืน ถนนในตลาดเก่าจึงแทบจะว่างเปล่าเบา รถวิ่งกันน้อยคัน ในขณะที่ผู้คนเริ่มหดหายไปจากถนน แม้แต่เด็กเล็กๆ เหลือเพียงแต่พ่อค้าแม่ค้าที่กำลังตั้งร้านเพื่อจะขายในคืนนั้นต่อไป
      

       แต่มัสยิดกลางที่ตั้งอยู่กลางตลาดเก่ายังคงส่องแสงสว่างอยู่ หลังจากนี้อีกไม่กี่นาที การละหมาดในเวลาต่อไปจะเริ่มขึ้น เช่นเดียวกับสีสันของตลาดเก่าในยามค่ำคืนที่แต่งแต้มด้วยร้านน้ำชาและอาหารคาวหวานนานาชนิด













.........................................................

วันอาทิตย์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

บรรยากาศการจับจ่ายอาหารเพื่อละศีลอดวันแรกที่ตลาดจะบังติกอ จ.ปัตตานี คึกคัก สร้างรายได้ให้แก่ผู้ค้าขายมากมายเหมือนทุกๆ ปี

“รอมฎอน” เดือนอันประเสริฐของพี่น้องชาวมุสลิมทั่วทุกมุมโลก เป็นเดือนแห่งการสั่งสมความดี ซึ่งในปีนี้เริ่มกันตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม ไปจนถึงวันที่ 25 มิถุนายน นับเป็นระยะเวลา 1 เดือนที่มุสลิมทั้งหลายต้อง ปฏิบัติตามหลักศาสนาอิสลาม คือระงับการรับประทานอาหารทุกอย่าง ตั้งแต่ก่อนพระอาทิตย์ขึ้นจนกระทั่งพระอาทิตย์ตกในแต่ละวัน หลังจากนั้น จึงจะเป็นช่วงเวลาของการละศีลอด วันนี้ข่าวภาคใต้ชายแดน จะขอนำเสนอบรรยากาศในวันแรกของการจับจ่าย ซื้ออาหารเพื่อละศีลอดของพี่น้องมุสลิมในพื้นที่ปัตตานี ผู้สื่อข่าวของเราได้ลงพื้นที่ตลาดจะบังติกอ อ.เมือง จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นแหล่งขายอาหารที่ถือว่าใหญ่ที่สุดในจังหวัดปัตตานีสำหรับผู้ที่ถือศีลอดในเดือนรอมฎอน มีประชาชนทุกสารทิศจำนวนมากเข้ามาจับจ่ายอาหารทั้งอาหารคาว หวาน และอาหารที่หารับประทานได้ยาก เพื่อนำมารับประทานในช่วงของการละศีลอด


   โดยในปีนี้ถือว่าการจำหน่ายอาหารที่ตลาดจะบังแห่งนี้ คึกคักไม่ต่างกับทุกปีที่ผ่านมา สามารถสร้างรายได้อย่างงามให้แก่บรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่นำอาหารมาจำหน่าย พี่น้องประชาชนเดินทางเข้ามาซื้ออาหารเป็นจำนวนมากทุกวัน เรียกได้ว่าเดินเบียดกันเลยทีเดียว ถือเป็นการสร้างสีสันเมืองปัตตานีในเดือนถือศีลอดได้อย่างมากเลยทีเดียว 


      ด้านนางเพ็ญศรี ศิริกูล ก๊ะแสะเราะห์ แม่ค้าขายแกงในตลาดจะบัง กล่าวว่า วันนี้เป็นวันแรกที่ถือศีลอด ทางร้านของเรามาเปิดร้านขายที่ตลาดจะบังแห่งนี้ทุกปี  วันนี้เราออกมาตั้งร้านกันตั้งแต่บ่ายสองโมง และขณะนี้เวลาบ่ายสีโมง ก็ขายหมดเกลี้ยงแล้ว ซึ่งถือได้ว่าขายดีเหมือนทุกๆปีที่ผ่านมา ร้านของเราจะมีอาหารเป็นแกง ต้ม ผัด ทุกชนิด แต่เป็นอาหารเด็ดของร้านก็คือ แกงเนื้อและแกงเป็ด “...ส่วนตัวแล้วคิดว่าดีใจที่ได้เห็นบรรยากาศคนมาจับจ่ายซื้อของคึกคักเหมือนเดิม พ่อค้าแม่ค้ามาออกร้านจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทำให้พี่น้องได้มาเลือกซื้ออาหารหลากหลากหลายรูปแบบจากตลาดแห่งนี้...”









วันเสาร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ประกาศ 27 พ.ค.เป็นวันที่ 1 ของเดือนรอมฎอน


"จุฬาราชมนตรี" ประกาศให้วันที่ 1 ของเดือนรอมฎอนประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1438 ตรงกับวันเสาร์ที่ 27 พ.ค. 2560
นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี กล่าวว่า การประกาศผลการดูดวงจันทร์เวลาหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า เพื่อกำหนดวันที่ 1 ของเดือนรอมฎอนประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1438 เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2560 ปรากฎว่าในวันและเวลาดังกล่าวมีผู้เห็นดวงจันทร์ จุฬาราชมนตรี จึงประกาศว่า วันที่ 1 เดือนรอมฎอน ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1438 ตรงกับวันเสาร์ที่ 27 พฤษภาคม 2560

"เดือนรอมฎอน" นั้น เป็นเดือนที่ทรงความประเสริฐเหนือเดือนอื่นๆ ตรงที่ศาสนกิจสำคัญ ได้แก่ การถือศีลอดถูกกำหนดให้มุสลิมที่บรรลุศาสนภาวะแล้วต้องปฏิบัติกันในเดือนนี้ อีกทั้งเป็นเดือนที่องค์อัลลอฮ์ พระผู้เป็นเจ้า ทรงประทานอัลกุรอานมาเพื่อเป็นแนวทางแก่มวลมนุษยชาติอีกด้วย ความประเสริฐตรงนี้จึงทำให้รอมฎอนเป็นช่วงเวลาที่มุสลิมทุกคนพึงใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อความสำเร็จทั้งในภพนี้และปรภพ โดยไม่ปล่อยให้เวลาอันมีค่าเหล่านี้ล่วงผ่านไปโดยเด็ดขาด การไตร่ตรองและการปฏิบัติอันจะนำการเปลี่ยนแปลงที่ดีมาสู่ตนเอง