ความประเสริฐ
การละหมาดกลางคืนเป็นอิบาดะฮฺที่เป็นเอกลักษณ์ของประชาชาติอิสลาม
มุสลิมคือผู้ที่ฟื้นฟูช่วงกลางคืนด้วยการอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ
ซุบฮานะฮูวะตะอาลา
ไม่เหมือนคนอื่นที่มักใช้ช่วงกลางคืนเพื่อความสนุกสนานหรือนอนหลับ อัลลอฮฺ
ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงทำให้กลางคืนเป็นเสมือนเครื่องอาภรณ์และเป็นเวลาส่วนตัว
ดังที่พระองค์ตรัสว่า
وَجَعَلْنَا اللَّيْلَ لِبَاساً
ความว่า
“และเราได้ทำให้กลางคืนเสมือนเครื่องปกปิดร่างกาย” (อันนะบะอฺ
78/10)
اللَّيْلَ لِتَسْكُنُواْ فِيهِ ... هُوَ الَّذِي جَعَلَ لَكُمُ
ความว่า
“พระองค์คือผู้ทรงประทานกลางคืนให้แก่พวกท่าน เพื่อพวกท่านจะได้พักผ่อน ...”
(ยูนุส 10/67)
อัลกุรอานได้เรียกร้องให้บรรดาผู้ศรัทธาฟื้นฟูช่วงเวลากลางคืนบางส่วนด้วยการลุกขึ้นละหมาด
อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา สั่งท่านนบี
ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
ตั้งแต่ได้รับวะฮียฺช่วงแรก ๆ ให้ลุกขึ้นละหมาดกลางคืนทั้งคืนหรือส่วนหนึ่ง
ความว่า
“โอ้ผู้คลุมกายเอ๋ย จงยืนขึ้น (ละหมาด) เวลากลางคืน เว้นแต่เพียงเล็กน้อย”
(อัลมุซซัมมิล 73/1-2)
และเป็นเอกลักษณ์ของผู้ศรัทธาที่จะเข้าสวรรค์ในวันกิยามะฮฺ
﴿١٨﴾ كَانُوا قَلِيلاً مِّنَ اللَّيْلِ مَا يَهْجَعُونَ ﴿١٧﴾ وَبِالْأَسْحَارِ هُمْ يَسْتَغْفِرُونَ
ความว่า
“พวกเขาเคยหลับนอนแต่เพียงส่วนน้อยของเวลากลางคืน และในยามรุ่งสางพวกเขาขออภัยโทษ (ต่ออัลลอฮฺ
ซุบฮานะฮูวะตะอาลา )” (อัซซาริยาต 51/17-18) ช่วงท้ายของกลางคืน (อัสฮาร)
มีซุนนะฮฺในการกล่าวอิสติฆฟาร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชาวสวรรค์
และเป็นช่วงเวลาดุอาอฺมุสตะญาบ (ดุอาอฺถูกตอบรับ)
ซอฮาบะฮฺบอกว่าท่านนบี
ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
ไม่ชอบการพูดคุยหลังอิชาอฺ แต่มีรายงานว่าท่านนบี เคยนั่งคุยกับท่านอบูบักร อัศศิดดีก
ถึงเรื่องราวของประชาชนหลังละหมาดอิชาอฺ อุละมาอฺจึงตีความว่าท่านนบี ไม่ชอบให้พูดคุยเรื่องไร้สาระหลังละหมาดอิชาอฺ
แต่สามารถพูดคุยประเด็นที่มีสาระและความจำเป็นได้
เพื่อให้เวลากลางคืนผ่านไปตามเจตนารมณ์ของอัลอิสลามเท่าที่กระทำได้
ในเดือนรอมฎอนบรรดาอัสสะละฟุศซอลิหฺและนักวิชาการจะหยุดสอนวิชาอื่นนอกจากอัลกุรอาน
เพื่อรักษาให้กิจการในเดือนรอมฎอนมุ่งสู่เรื่องอิบาดะฮฺเพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
ยังให้ความสำคัญกับบางคืนในเดือนรอมฎอนเป็นพิเศษ ดังที่ท่านกล่าวว่า “และผู้ใดยืนละหมาดในคืนอัลกอดรฺ อัลลอฮฺ
จะให้อภัยโทษต่อความผิดที่ทำในอดีต” (แสดงถึงความพิเศษอีกระดับหนึ่งของคืนอัลกอดรฺ)
เมื่อท่านนบี
ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
ย้ำเช่นนี้
เราจึงต้องเข้าใจว่าการศึกษาเรื่องการละหมาดกิยามุลลัยลฺในเดือนรอมฎอนนั้น
ไม่ด้อยไปกว่าการศึกษาวิธีถือศีลอดหรือวิธีการละหมาด
ความเป็นมา
คำว่า
“ตะรอวีหฺ” تَرَا وِيْعٌ
ซึ่งหมายถึงการละหมาดกิยามุลลัยลฺในเดือนรอมฎอน มาจากการพักระหว่างยืนละหมาด 4
ร็อกอัต ซึ่งเรียกว่า “ตัรวีฮะหฺ” ในสมัยท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ส่วนมาก (รวมทั้งเยาวชน)
จะใช้ไม้เท้าพยุงยืนละหมาด
เพื่อรักษาผลบุญที่มากกว่าการนั่งละหมาดซึ่งได้เพียงครึ่งหนึ่ง
หะดีษของท่านนบี
ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
บังคับให้ละหมาดฟัรฎูที่มัสญิด ใครมีความสามารถต้องไป
ถ้าไม่ไปอาจถูกสงสัยว่าเป็นมุนาฟิก และถึงขั้นที่ท่านนบีขู่จะเผาบ้านคนที่ไม่ไปละหมาดมัสญิด
แต่สำหรับละหมาดซุนนะฮฺทุกประเภท ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ส่งเสริมให้ละหมาดที่บ้าน
ส่วนมากท่านนบีจะละหมาดซุนนะฮฺที่บ้าน ดังที่ท่านได้พูดชัดเจนว่า “การที่คนหนึ่งคนใดละหมาดที่บ้าน ดีกว่าการละหมาดที่มัสญิด ยกเว้นฟัรฎู”
อุละมาอฺได้ยกเว้นละหมาดบางประเภทที่เป็นซุนนะฮฺมุอักกะดะฮฺหรือฟัรฎูกิฟายะ
ฮฺที่สมควรละหมาด เช่น ละหมาดกูซูฟ (สุริยคราสหรือจันทรคราส) ละหมาดญะนาซะฮฺ
(ถ้าจะละหมาดที่มัสญิด) (ตามซุนนะฮฺท่านนบี
ละหมาดญะนาซะฮฺที่มุศ็อลลา ท่านนบี
เคยละหมาดญะนาซะฮฺที่มัสญิดเพียงครั้งเดียวเพื่อบอกว่าละหมาดได้)
ในรอมฎอนปีช่วงท้ายชีวิตของท่านนบี ท่านได้ถือศีลอดและละหมาดกิยามุลลัยลฺที่บ้าน
ซอฮาบะฮฺได้รายงานว่าท่านนบี ส่งเสริม
เรียกร้อง และกระตุ้นให้พวกเราละหมาดกิยามุลลัยลฺที่บ้านโดยไม่บังคับ บรรดาซอฮาบะฮฺก็ละหมาดที่บ้าน
และบางคนละหมาดที่มัสญิดแต่ไม่ใช่ญะมาอะฮฺ จนครั้งหนึ่งที่ท่านนบี ได้ออกมาละหมาดที่มัสญิด
มีหะดีษของอบูซัร
บันทึกโดยอิมามอบูดาวูด “เราได้ถือศีลอดกับท่านนบี เดือนรอมฎอน จนถึงคืนที่ 24
(เหลืออีก
7 วัน) ท่านนบี นำละหมาดที่มัสญิดช่วง 1
ใน 3 ของกลางคืน(1) คืนที่ 25
ไม่ได้ละหมาด ต่อมาคืนที่ 26 ท่านนบี
นำละหมาดตะรอวีหฺจนผ่านไปครึ่งกลางคืน(ประมาณ 5 ชั่วโมง 30 นาที)
อบูซัรได้ขอร้องให้ท่านนบี
ละหมาดจนถึงซุบฮฺ เพื่อจะได้ละหมาดทั้งคืน ท่านนบี จึงได้ตอบว่า “แท้จริง เมื่อคนหนึ่งคนใดละหมาดพร้อมอิมามจนสำเร็จ
จะถูกบันทึกเสมือนละหมาดตลอดคืน” (นี่แสดงถึงความประเสริฐของการละหมาดตะรอวีหฺกับญะมาอะฮฺที่มัสญิด
ถึงแม้ไม่ได้ละหมาดตลอดคืน แต่ถือว่าสมบูรณ์ในการบันทึก) ต่อมาคืนที่ 27
ไม่ได้ละหมาด คืนที่ 28 ท่านนบี
เชิญชวนครอบครัวและผู้คนละหมาดตะรอวีหฺ
ท่านได้นำละหมาดจนกระทั่งเรากลัวว่าจะไม่ทันรับประทานอาหารสะฮูร
และคืนที่เหลือท่านนบี
ไม่ได้ละหมาดกับเรา”
(1) กลางคืนนับตั้งแต่มัฆริบถึงซุบฮฺ
สมมติซุบฮฺตีห้าและมัฆริบหกโมง รวม 11 ชั่วโมง ดังนั้น 1 ใน 3 จึงประมาณ 3 ชั่วโมง
40 นาที นี่คือเวลาที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ละหมาดกลางคืน (ในสมัยก่อนไม่มีนาฬิกา
ใช้นับเวลาด้วยการกะ เช่น ช่วงรีดนมแพะหนึ่งถ้วย ช่วงตัดต้นไม้หนึ่งต้น
แต่เมื่อรับอิสลามแล้วการกะเวลาจึงเปลี่ยนไป เช่น ช่วงเวลาระหว่างกินสะฮูรกับซุบฮฺประมาณอ่านอัลกุรอาน
50 อายะฮฺ เห็นได้ว่าบรรดาซอฮาบะฮฺได้บูรณะเวลาของพวกเขาด้วยการซิกรุลลอฮฺ
เพราะใช้การอ่านอัลกุรอานเป็นมาตรฐานในการกะเวลา)
สาเหตุที่ท่านนบี ไม่นำละหมาดญะมาอะฮฺที่มัสญิดเป็นประจำ
ท่านหญิงอาอิชะฮฺ ได้ให้เหตุผลไว้
มีปีหนึ่ง ท่านนบี ละหมาดคืนหนึ่งแล้วเว้น
ซอฮาบะฮฺมาเรียกให้ท่านนบี ออกมานำละหมาด
แต่ท่านไม่ออก ตอนเช้า ท่านนบี ได้บอกว่า
“ฉันเห็นคนเต็มมัสญิดรอฉันนำละหมาด แต่ฉันตั้งใจไม่ออกไปนำละหมาด
เพราะเกรงว่าจะถูกบัญญัติให้การละหมาดตะรอวีหฺเป็นวาญิบ และพวกท่านคงไม่ไหว”
แสดงว่าตลอดชีวิตท่านนบี ไม่มีการละหมาดตะรอวีหฺที่มัสญิดเป็นประจำ
มีเพียงบางครั้งบางคราว แต่เมื่อท่านนบี
เสียชีวิตแล้ว จึงไม่มีโอกาสบัญญัติให้การละหมาดนี้เป็นวาญิบ
สมัยท่านอบูบักรไม่มีการเปลี่ยนแปลง
คือใครอยากละหมาดที่บ้านก็ทำ ใครจะละหมาดที่มัสญิดก็ได้ แต่ไม่เป็นญะมาอะฮฺเดียว
ละหมาดคนเดียวบ้างหรือเป็นกลุ่มบ้าง หรือมีอิมามนำละหมาดให้เป็นบางครั้ง
ช่วงแรกของคิลาฟะฮฺอุมัรก็เช่นเดียวกัน
จนครั้งหนึ่งท่านอุมัรเข้ามัสญิดเห็นคนละหมาดตะรอวีหฺกันหลายกลุ่ม
แล้วมีความคิดว่าถ้ารวมกันน่าจะดีกว่า จึงแต่งตั้งให้อุบัย อิบนิ กะอฺบ
เป็นอิมามประจำมัสญิดสำหรับผู้ชาย และแต่งตั้งตะมีม อัดดารียฺ
ให้เป็นอิมามสำหรับผู้หญิง นั่นคือในสมัยท่านอุมัรเริ่มรวมเหลือ 2 ญะมาอะฮฺ
เป็นหลักฐานว่าจัดอิมามให้เฉพาะสำหรับผู้หญิง
การละหมาดตะรอวีหฺที่บ้านสามารถทำได้
(สำหรับเรื่องที่ว่าแบบใดมีความประเสริฐมากกว่า จะกล่าวในเนื้อหาต่อ ๆ ไป) เพราะสมัยท่านนบี และสมัยท่านอบูบักรก็ทำ
และหากที่มัสญิดไม่จัดอิมามนำละหมาด ก็สามารถตั้งญะมาอะฮฺหลายกลุ่มที่มัสญิดได้
แต่อุละมาอฺบอกว่าอย่าให้รบกวนกัน เพราะเคยปรากฏในสมัยท่านนบี มีการอ่านอัลกุรอานกวนกันในมัสญิด ท่านนบี บอกว่า “พวกท่านอย่าอ่านอัลกุรอานเสียงดังซึ่งกันและกัน
(อย่ากวนกันด้วยอัลกุรอาน)” เราต้องการความสงบในการอ่านอัลกุรอาน
จะอ่านเพื่อรบกวนคนอื่นไม่
จำนวนร็อกอะฮฺและระยะเวลา
จำนวนร็อกอัต
เป็นบทบัญญัติสำหรับกิยามุลลัยลฺทั่วไป
(รวมทั้งตะรอวีหฺในเดือนรอมฎอน) ที่อุละมาอฺทั้งหมดบอกว่าท่านนบี ไม่เคยละหมาดเกิน 11 ร็อกอัต
หะดีษจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ
บันทึกโดยอิมามบุคอรียฺและมุสลิม “ท่านนบี
ไม่เคยละหมาดในเดือนรอมฎอนและนอกเดือนรอมฎอนมากกว่า 11 ร็อกอัต ท่านนบี จะละหมาด 4 ร็อกอัต (ทีละ 2 ร็อกอัต)
ไม่ต้องถามเลย ว่าท่านนบี
ละหมาดยาวและสง่างามอย่างไร ( หมายถึงละหมาดยาวมากและสวยงามมาก)
และละหมาดอีก 4
ร็อกอัต (ทีละ 2
ร็อกอัต) ท่านอย่าถามถึงความสวยงามและความยาวของมัน และต่อมาละหมาดอีก 3 ร็อกอัต”
(คุณค่าของหะดีษนี้อยู่ที่ผู้รายงานหะดีษคือท่านหญิงอาอิชะฮฺ ซึ่งนิกะฮฺกับท่านนบี ตั้งแต่ก่อนอพยพ (อยู่ที่มักกะฮฺ)
และเข้าอยู่บ้านเดียวกันเมื่ออพยพมาอยู่ที่มะดีนะฮฺ ท่านหญิงอาอิชะฮฺ อยู่กับท่านนบี โดยตลอด
และถือศีลอดด้วยกันตั้งแต่ปีฮิจญเราะฮฺศักราชที่ 1-11 (ปีที่ท่านนบีเสียชีวิต)
ในเดือนรอมฎอนส่วนมากท่านนบี
ละหมาดที่บ้าน ดังนั้นคนที่รู้ลักษณะการละหมาดของท่านนบี มากที่สุดคือภรรยาของท่าน และท่านนบี ชอบอยู่บ้านท่านหญิงอาอิชะฮฺ บางครั้งภรรยาคนอื่นสละสิทธิ์ให้ท่านนบี ไปอยู่บ้านท่านหญิงอาอิชะฮฺ เพราะรู้ว่าท่านนบีรักมากกว่า
ปรับความหึงเพราะรักท่านนบี
และอยากให้ท่านได้สิ่งที่รักมากที่สุด ดังนั้น
คนที่รู้ความลับของท่านนบี มากที่สุดคือ
ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เป็นที่ยอมรับในบรรดาภรรยานบี และซอฮาบะฮฺ)
สำหรับรายงานที่ว่าท่านนบี ไม่เคยละหมาดมากกว่า 13 ร็อกอัต
อุละมาอฺตีความ 2
ร็อกอัตที่เกินมา ทรรศนะหนึ่งบอกว่าเป็นละหมาดซุนนะฮฺหลังอิชาอฺ
ส่วนอีกทรรศนะหนึ่งบอกว่าเป็น 2
ร็อกอัตเฉพาะของกิยามุลลัยลฺที่ท่านนบี
จะละหมาดเร็วเพื่อเป็นการเตรียมตัวที่จะละหมาดยาวนานต่อไป
ท่านนบี เคยละหมาดต่ำกว่า 11 ร็อกอัต
มีรายงานของซอฮาบะฮฺและถ้อยคำที่ท่านนบี
แนะนำผู้อื่นให้ทำเช่นกัน หะดีษบันทึกโดยอิมามอบูดาวูดและอิมามอะหฺมัด
ท่านหญิงอาอิชะฮฺ ถูกถามว่า “ท่านนบี ละหมาดกลางคืนพร้อมด้วยวิตรฺกี่ร็อกอัต” ท่านหญิงตอบว่า “บางครั้งท่านนบี ละหมาด 4 ร็อกอัต (ทีละสอง) และวิตรฺ 3 ร็อกอัต (2-1) บางครั้งละหมาด 6 ร็อกอัต (ทีละสอง)
และวิตรฺ 3
ร็อกอัต (2-1) และบางครั้งละหมาด
10 ร็อกอัต (ทีละสอง)
และวิตรฺ 3
ร็อกอัต (2-1) ท่านนบี ไม่เคยละหมาดน้อยกว่า 7
ร็อกอัตและไม่เคยละหมาดมากกว่า 13
ร็อกอัต”
หะดีษบันทึกโดยอิมามเฏาะฮาวียฺ ท่านนบี บอกว่า “วิตรฺเป็นสัจธรรม(1) ใครอยากละหมาดกิยามุลลัยลฺพร้อมวิตรฺ
5 ร็อกอัตก็ได้ หรือ 3 ร็อกอัตก็ได้ หรือ 1 ร็อกอัตก็ได้”
(1) หมายถึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญปฏิเสธไม่ได้
หรือเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ มัซฮับอบูฮานีฟะฮฺอ้างหะดีษนี้ว่าวิตรฺเป็นวาญิบ
แต่อีกสามมัซฮับบอกว่าเป็นซุนนะฮฺ อุละมาอฺส่วนมากบอกว่า “ฮักกฺ” หมายถึงมีความสำคัญแต่ไม่ถึงขั้นวาญิบ
เพราะอัลกุรอานและหะดีษบอกชัดเจนว่าฟัรฎูมี 5 เวลา
อุละมาอฺสรุปว่า การละหมาดกิยามุลลัยลฺสูงสุด
13 หรือ 11 ร็อกอัต และต่ำสุด 1 ร็อกอัต (ซอฮาบะฮฺที่ปฏิบัติวิตรฺ 1 ร็อกอัตคือ
มุอาวียะฮฺ อิบนุ อบูซุฟยาน เคยมีสงครามระหว่างมุอาวียะฮฺกับอะลี
มีคนเห็นมุอาวียะฮฺละหมาดกิยามุลลัยลฺ 1 ร็อกอัต
จึงไปบอกอิบนิอับบาสซึ่งอยู่ฝ่ายอะลี เพราะหวังให้อิบนิอับบาสตำหนิมุอาวียะฮฺ
แต่อิบนิอับบาสบอกว่า “ปล่อยเขา
เขามีความรู้”)
ระยะเวลา
บางครั้งท่านนบี ละหมาด 1 ใน 3 ของคืน บางครั้งครึ่งคืน
และบางครั้งละหมาดทั้งคืน ไม่มีเวลาตายตัว (แต่ส่วนมากจะละหมาด 1 ใน 3 ของคืน
แล้วแต่ความเหมาะสม) บางครั้งหนึ่งร็อกอัตเท่ากับซูเราะฮฺอัลมุซซัมมิล (ประมาณ 20 อายะฮฺ)
บางครั้งเท่ากับ 50
อายะฮฺ หะดีษท่านนบี กล่าวว่า
مَنْ قَامَ بِعَشْرِ آيَاتٍ لَمْ يُكْتَبْ مِنَ الْغَافِلِيْن ، وَمَنْ قَامَ بِمِائَةِ آيَةٍ كُتِبَ مِنَ الْقَانِتِيْن ،
وَمَنْ قَامَ بِأَلْفِ آيَةٍ كُتِبَ مِنَ الْمُقَنْطِرِيْن . صحيح الجامع الصغير وزياداته
“ผู้ใดตื่นละหมาดกลางคืนด้วย
10 อายะฮฺ
จะไม่ถูกบันทึกว่าเป็นผู้หลงลืม (จากหลักการของอัลลอฮฺ ) และผู้ใดตื่นละหมาดกลางคืนด้วย 100 อายะฮฺ
จะถูกบันทึกว่าเป็นกอนิตีน (ยืนละหมาดนาน) และผู้ใดละหมาดกลางคืนด้วย 1,000 อายะฮฺ
จะถูกบันทึกว่าเป็นมุกอนฏิรีน (ได้รับผลบุญมหาศาล)”
คืนหนึ่งท่านนบี ป่วย
แต่ได้ละหมาดกิยามุลลัยลฺด้วยซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ อาลิอิมรอน อันนิซาอฺ
อัลมาอิดะฮฺ อัลอันอาม อัลอะอฺรอฟ และอัตเตาบะฮฺ (ถือเป็น 7
ซูเราะฮฺยาวที่สุดในอัลกุรอานที่ถูกเรียงกัน เรียกว่า “อัซซับอุฏฏิวาน” รวมประมาณ 10 ญุซ)
และมีเรื่องของท่านฮุซัยฟะฮฺ อิบนุ ยะมาน ที่ขอค้างกับท่านนบี คืนหนึ่ง และได้ละหมาดกับท่านนบี อ่านอัลบะเกาะเราะฮฺ อันนิซาอฺ
และอาลิอิมรอนในร็อกอัตเดียว อ่านช้า ๆ
ในสมัยท่านอุมัร
ที่แต่งตั้งให้อุบัย อิบนิ กะอฺบ นำละหมาดที่มัสญิด อุบัยอ่านอายะฮฺนับหลักร้อย
จนคนที่มาละหมาดด้วยใช้ไม้เท้า และจะไม่กลับบ้านจนกว่าใกล้อะซานซุบฮฺ
อุละมาอฺบอกว่าการนำละหมาดที่มัสญิดสมควรดูว่าคนทั่วไปสามารถละหมาดได้ยาวนานแค่ไหน
แต่หากเป็นมัสญิดหรือมุศ็อลลาที่คนละหมาดสมัครใจละหมาดยาวมากก็สามารถทำได้
การละหมาดกิยามุลลัยลฺเริ่มตั้งแต่เวลาหลังละหมาดอิชาอฺจนถึงเวลาอะซานซุบฮฺ
การละหมาดก่อนอิชาอฺมีรูปแบบที่บางครั้งซอฮาบะฮฺปฏิบัติ คือ
การละหมาดระหว่างมัฆริบและอิชาอฺทีละ 2 ร็อกอัตเท่าที่ทำได้ เรียกว่า “อิหฺยาอุมาบัยนัลอิชาอัยนฺ” เป็นซุนนะฮฺกลางคืนอีกอย่างหนึ่ง
ไม่ใช่กิยามุลลัยลฺ
หะดีษบันทึกโดยอิมามมุสลิม
ท่านนบี กล่าวว่า “ใครที่กลัวจะไม่ตื่นช่วงท้ายของคืน
ให้ละหมาดวิตรฺก่อนนอน และใครที่หวังว่าจะตื่นละหมาดตอนดึก ให้วิตรฺตอนดึก(2) เพราะการละหมาดช่วงสุดท้ายของกลางคืน
เป็นการละหมาดที่มีผู้เป็นพยานให้ (หมายถึงอัลลอฮฺ หรือบรรดามลาอิกะฮฺ(3) ) และการละหมาดกลางคืนนั้นประเสริฐยิ่ง”
(2) คนที่มั่นใจว่าจะตื่นก็ให้วิตรฺช่วงท้ายดีกว่า
แต่ถ้าไม่มั่นใจให้วิตรฺไว้ก่อน และถ้าตื่นก็ละหมาดทีละสองร็อกอัต
(โดยไม่ต้องวิตรฺอีก)
(3) มีหะดีษรายงานจากบุคอรียฺ
มุสลิม และท่านอื่น ๆ ท่านนบี กล่าวว่า “ช่วง 1 ใน 3
ส่วนสุดท้ายของกลางคืน อัลลอฮฺ
จะเสด็จลงมายังชั้นฟ้าสุดท้ายของโลกนี้
และกล่าวว่าใครที่เตาบัตพระองค์จะรับ ใครขออภัยโทษจะอภัยโทษให้
และใครวิงวอนดุอาอฺข้าจะตอบรับ”
สถานที่และรูปแบบการละหมาดสถานที่ละหมาด
ส่วนใหญ่ที่มัสญิดจัดละหมาดคือช่วงแรกของกลางคืน
การละหมาดญะมาอะฮฺกับอิมามมีความประเสริฐเสมือนละหมาดตลอดคืน
แต่การละหมาดในช่วงสุดท้ายที่บ้านก็มีความประเสริฐ ดังนั้นควรปฏิบัติแบบใด?
เชคอัลบานียฺบอกว่า “การละหมาดญะมาอะฮฺที่มัสญิดมีความประเสริฐกว่า
เพราะจะถูกบันทึกว่าละหมาดตลอดคืน (รวมถึงช่วงสุดท้ายของคืนด้วย)
และนี่คือการปฏิบัติของบรรดาซอฮาบะฮฺเช่นเดียวกัน” แต่เชคอัลบานียฺคลาดเคลื่อนนิดหน่อยในการตีความหะดีษที่ว่า
ในสมัยท่านอุมัรได้มีการแต่งตั้งอิมามที่มัสญิดนำละหมาดช่วงแรกของคืน
ท่านอุมัรออกมากับซอฮาบะฮฺท่านหนึ่งแล้วบอกว่า “การละหมาดเช่นนี้ดี
แต่การละหมาดช่วงที่พวกเขากลับบ้านไปนอนพักผ่อนนั้นดีกว่า
คนส่วนมากละหมาดช่วงแรกของกลางคืน” เชคอัลบานียฺอ้างคำพูดที่ว่า
“คนส่วนมากละหมาดช่วงแรกของคืน” แต่ท่านอุมัรไม่ได้ละหมาดช่วงนั้น
มีรายงานหะดีษหนึ่งว่า ท่านอุมัรไม่ได้ร่วมละหมาดกับอิมามที่มัสญิด
แต่ละหมาดที่บ้านช่วงสุดท้ายของกลางคืน
ดังนั้นจะฟันธงว่าการละหมาดช่วงแรกเป็นการปฏิบัติของซอฮาบะฮฺทั้งหมดไม่ได้
ถึงแม้ซอฮาบะฮฺส่วนมากปฏิบัติ
แต่เมื่อเทียบแล้วท่านอุมัรมีน้ำหนักมากกว่าซอฮาบะฮฺธรรมดา
อุละมาอฺมีทรรศนะที่แตกต่างกันเรื่องละหมาดที่มัสญิดหรือที่บ้านประเสริฐกว่า
ท่านนบี
บอกว่าละหมาดซุนนะฮฺที่บ้านดีกว่าและละหมาดช่วงสุดท้ายของกลางคืนดีกว่า
แต่อีกหะดีษหนึ่งท่านนบี
บอกว่าการละหมาดกับอิมามที่มัสญิดได้ผลบุญเท่ากับการละหมาดตลอดคืน
จึงมีทรรศนะที่ยึดหะดีษนี้ว่าละหมาดที่มัสญิดดีกว่า
เพราะไม่มีอะไรสมบูรณ์กว่าการละหมาดตลอดคืน
ทรรศนะที่ 2 บอกว่าละหมาดที่บ้านดีกว่า
โดยยึดตามหะดีษของท่านนบี
ที่บอกว่าละหมาดซุนนะฮฺทุกประเภทที่บ้านดีกว่า
และละหมาดช่วงสุดท้ายของคืนดีกว่า ส่วนการละหมาดที่มัสญิดท่านนบี ไม่ได้ใช้คำว่า “อัฟฎอลลฺ-ประเสริฐ” เพียงแต่บอกว่าได้รับผลบุญเท่าการละหมาดตลอดคืน
ทรรศนะที่ 3
คือทรรศนะของอุละมาอฺที่ได้ให้แง่คิดว่า
หากรู้ว่าการละหมาดที่บ้านช่วงสุดท้ายของคืนมีคุชูอฺมากกว่าและยาวกว่าที่มัสญิด
นั่นดีกว่าและได้ผลบุญมากกว่า แต่ถ้ารู้ว่าละหมาดที่มัสญิดยาวกว่านั่นย่อมดีกว่า
เพราะความประเสริฐไม่ใช่ในด้านเวลาอย่างเดียว แต่รวมถึงจำนวนและความสมบูรณ์ด้วย
การละหมาดตามอิมามที่บะแลหรือมุศ็อลลาก็ถือว่าเป็นมัสญิด
แต่มีคิลาฟว่ามัสญิดบ้าน (คือการตั้งห้องหนึ่งเป็นบะแลหรือมุศ็อลลา
เนื่องจากไม่สามารถสร้างมัสญิดหลังใหญ่ได้)
ถือว่าเป็นมัสญิดหรือไม่ เพราะมีหะดีษบางบทเรียกว่าเป็นมัสญิด
ดังที่ซอฮาบะฮฺท่านหนึ่งกล่าวว่า “ท่านนบี
ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
สั่งให้กำหนดมัสญิดที่บ้านของเราและรักษาความสะอาดด้วย” และเป็นที่ปฏิบัติของบรรดาซอฮาบะฮฺว่าในหมู่บ้านจะมีมัสญิดหรือมุศ็อลลา
บางบ้านมีห้องเฉพาะสำหรับละหมาด ถึงแม้จะเรียกว่ามัสญิด อุละมาอฺบางท่านบอกว่าไม่ได้ผลบุญเหมือนมัสญิด
ถ้าเรียกว่ามัสญิดและมีญะมาอะฮฺก็ได้ผลบุญ เพราะท่านนบี
ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
เรียกว่ามัสญิด แต่ที่เรียกว่ามัสญิดสมบูรณ์คือ เป็นที่วะกัฟของมัสญิด
ไม่ได้อยู่อาศัยเป็นบ้าน
รูปแบบการละหมาด
รูปแบบที่ 1 ละหมาด 13 ร็อกอัต คือ
ละหมาด 2 ร็อกอัตแรกเร็วหน่อย (เชคอัลบานียฺบอกว่า 2
ร็อกอัตนี้คือซุนนะฮฺหลังอิชาอฺ หรือนับเป็น 2 ร็อกอัตเริ่มกิยามุลลัยลฺ) 2 ร็อกอัตต่อมายาว 2 ร็อกอัตต่อมาสั้นลง
แล้วพัก ต่อมาละหมาด 2 ร็อกอัตสั้นกว่า 4 ร็อกอัตที่ผ่านไป และอีก 2 ร็อกอัตสั้นลง
แล้วพัก ต่อมาละหมาด 2 ร็อกอัตที่สั้นกว่าที่ผ่านไปทั้งหมด และวิตรฺ 1 ร็อกอัต
รูปแบบที่ 2 ละหมาด 13 ร็อกอัต คือ
ละหมาด 8 ร็อกอัตทีละสอง (ให้สลามทุก 2 ร็อกอัต) และละหมาด 5
ร็อกอัตเป็นวิตรฺรวดเดียว
อุละมาอฺส่วนมากให้น้ำหนักว่าตะชะฮุดครั้งเดียวในละหมาดวิตรฺ 5 ร็อกอัต
รูปแบบที่ 3 ละหมาด 11 ร็อกอัต
เหมือนรูปแบบที่ 1 แต่ไม่มี 2 ร็อกอัตเร็วตอนแรก คือ 2 ร็อกอัต 2 ร็อกอัต แล้วพัก
2 ร็อกอัต 2 ร็อกอัต แล้วพัก ต่อมา 2 ร็อกอัต และ 1 ร็อกอัต
รูปแบบที่ 4 ละหมาด 11 ร็อกอัต คือ
ละหมาด 4 ร็อกอัตรวดเดียว (สลามครั้งเดียว ตะชะฮุดเดียว) อีก 4 ร็อกอัตรวดเดียว และ 3 ร็อกอัตรวดเดียว
(เชคอัลบานียฺบอกว่า
ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนในซุนนะฮฺว่าท่านนบี
ละหมาด 4 ร็อกอัตรวดเดียวหรือมีตะชะฮุดด้วย แต่ที่แน่นอนว่าถ้าละหมาดวิตรฺ
3 ร็อกอัตรวดเดียวไม่ให้ตะชะฮุดร็อกอัตที่สอง เพราะมีหะดีษชัดเจนท่านนบี บอกว่า “อย่าละหมาดวิตรฺเหมือนมัฆริบ”
นี่จึงเป็นทรรศนะของอุละมาอฺกลุ่มหนึ่งว่า การละหมาดซุนนะฮฺ 4
ร็อกอัตก็ให้นั่งตะชะฮุดครั้งเดียว เพราะถ้านั่งตะชะฮุด 2 ครั้งจะเป็นการเลียนแบบฟัรฎู)
รูปแบบที่ 5 ละหมาด 11 ร็อกอัต คือ
ละหมาด 8 ร็อกอัตรวดเดียว นั่งตะชะฮุดและซอละวาตในร็อกอัตที่ 8 แล้วลุกขึ้น
(ไม่ให้สลาม) ละหมาดวิตรฺ 1 ร็อกอัต ให้สลาม แล้วนั่งละหมาดอีก 2 ร็อกอัต
(นี่เป็นลักษณะที่ท่านนบี ละหมาดกิยามุลลัยลฺที่บ้าน ไม่มีหลักฐานว่าท่านใช้ละหมาดตะรอวีหฺ
น่าจะไม่เคยทำเป็นญะมาอะฮฺ ถ้าจะนำรูปแบบนี้มาละหมาดเป็นญะมาอะฮฺก็ทำได้
แต่มีคิลาฟว่าถ้าอิมามนั่งละหมาดแล้วมะมูมต้องนั่งหรือไม่ บางท่านบอกว่าต้องนั่ง
บางท่านบอกว่ายืนก็ได้)
รูปแบบที่ 6 ละหมาด 9 ร็อกอัต คือ
ละหมาด 6 ร็อกอัตรวดเดียว นั่งตะชะฮุดและซอละวาตในร็อกอัตที่ 6 แล้วลุกขึ้น
(ไม่ให้สลาม) ละหมาดวิตรฺ 1 ร็อกอัต ให้สลาม แล้วนั่งละหมาดอีก 2 ร็อกอัต
เชคอัลบานียฺบอกว่า
สามารถเพิ่มเติมบางรูปแบบที่บรรจุในรูปแบบนั้น ๆ อาทิเช่น
ลดจำนวนร็อกอัตจากรูปแบบดังกล่าว เช่น จากรูปแบบที่ 1 สามารถลดจำนวนเหลือ 7
ร็อกอัตได้ (2-2-2-1) หรือจากรูปแบบที่ 6 สามารถลดจำนวนเหลือ 7 ร็อกอัตได้ (4-1-2)
เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
กล่าวว่า “ใครจะละหมาด (รวมวิตรฺ)
5 ร็อกอัตก็ได้ ใครจะละหมาด 3 ร็อกอัตก็ได้ หรือจะละหมาดเพียง 1
ร็อกอัตก็ได้เช่นเดียวกัน”
สำหรับการอ่านในวิตรฺ
ร็อกอัตแรกท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
อ่านซูเราะฮฺอัลอะอฺลา ร็อกอัตที่ 2 อ่านซูเราะฮฺอัลกาฟิรูน และร็อกอัตที่
3 อ่านซูเราะฮฺอัลอิคลาศ บางครั้งเพิ่มซูเราะฮฺอัลฟะลักและซูเราะฮฺอันนาสด้วย
ในการบันทึกของท่านอิมามนะซาอียฺ อะหฺมัด อิสนาดซอฮีหฺ ครั้งหนึ่งท่านนบี อ่านในวิตรฺร็อกอัตสุดท้ายด้วย 100
อายะฮฺจากซูเราะฮฺอันนิซาอฺ
แสดงว่าการอ่านซูเราะฮฺอัลอิคลาศในร็อกอัตสุดท้ายวิตรฺไม่ใช่วาญิบ
การละหมาด 20 ร็อกอัต ไม่ใช่บิดอะฮฺ
เพราะมีรายงานชัดเจนว่าท่านอุมัรแต่งตั้งอิมามนำละหมาด 20 ร็อกอัต ไม่มีรายงานว่าท่านนบี
ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ทำ
แต่ชัดเจนว่าซอฮาบะฮฺทำ และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม อนุโลมตามหะดีษบันทึกโดยบุคอรียฺและมุสลิม
ท่านนบี กล่าวว่า “การละหมาดกลางคืนทีละสอง ๆ” ไม่ได้จำกัดจำนวน
อัลกุรอานได้เปิดกว้างว่าการละหมาดกลางคืน ครึ่งคืนก็ได้ ตลอดคืนก็ได้
จึงมีโอกาสมากกว่า 11 ร็อกอัตได้ ซอฮาบะฮฺเข้าใจเจตนารมณ์ของท่านนบี และปฏิบัติเช่นนั้น
อุละมาอฺบอกว่าซอฮาบะฮฺเลือกปฏิบัติความประเสริฐของการละหมาดด้วยการเลือกระหว่างจำนวนกับความยาวของการละหมาด
ถ้าจะละหมาดยาวก็ลดจำนวน แต่ถ้าละหมาดสั้นก็เพิ่มจำนวน
ถ้าละหมาดที่มัสญิดไม่จบแล้วไปวิตรฺที่บ้านก็ไม่ได้ผลบุญที่ท่านนบี
ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม บอกว่า “การละหมาดกับอิมามจนจบเหมือนละหมาดตลอดคืน”
ถ้าที่มัสญิดละหมาดเร็วมากไม่ควรร่วมด้วย
เพราะไม่ได้ผลบุญ และอาจถึงขั้นละหมาดใช้ไม่ได้ เพราะขาดความสงบซึ่งเป็นรุก่นในการละหมาด
ละหมาดถืออัลกุรอานสามารถทำได้
ถ้ามีความต้องการ แต่ถ้าท่องจำแม่นแล้วไม่ถือดีกว่า
มีรายงานว่าทาสของท่านหญิงอาอิชะฮฺ
เคยละหมาดโดยถืออัลกุรอาน ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เห็นแล้วไม่ได้ตำหนิ จึงถือว่าทำได้
แต่ไม่ถือว่าประเสริฐกว่า
............................................................................
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น