วันอังคารที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เรื่องเล่า...มโนราห์ โรงครู ศิลปะของภาคใต้

มโนราห์ โรงครู ศิลปะของภาคใต้ ที่นับวันจะหาดูได้ยากขึ้น
แก้บนด้วยมโนราห์โรงครู ความเชื่อและความศรัทธาของชาวปักษ์ใต้
 
             คณะมโนราห์เขียนพรพา ลูกพ่อเชย ปัตตานี ได้ถูกว่าจ้างให้มาทำการแสดง ขับกล่อมบทมโนราห์ 12 บท ในพิธีแก้บ่น โดยมีนายเขียน สมุทรอินแก้ว อายุ 77 ปี เป็นนายโรงมโนราห์ ซึ่งพิธีมโนราห์โรงครูจะมีการจัดเตรียม ข้าวตอก ดอกไม้ธูปเทียน อาหารคาวหวาน น้ำดื่ม และ การจัดหรับ เพื่อทำพิธีบวงสรวงแก่ ดวงวิญญาณปู่ย่าตายาย และบรรพบุรุษครูมโนราห์ ที่ล่วงลับไปแล้ว


             การทำพิธีมโนราห์โรงครู เพื่อแก้บนในครั้งนี้ ได้รับการเปิดเผยจากนางมาลี มูลศรี เจ้าภาพผู้ว่าจ้างมโนราห์มาทำพิธี ได้เล่าให้ฟังว่า มันเป็นความเชื่อของพี่น้องชาวปักษ์ใต้ ที่มีมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษปู่ย่าตายาย ที่ได้ยึดถือ และมีความเชื่อต่อ ๆ กันมา โดยที่ตนเองนั้น ได้ประสบปัญหาทั้งเรื่องของการงาน ครอบครัว และผู้เป็นมารดาที่ล้มป่วยด้วยความชราภาพ จนเป็นอัมพาต และมีอาการทรุดหนักลงเรื่อย ๆ จนก่อนที่มารดาจะเสียชีวิตนั้น มีอาการนอนแน่นิ่ง ไม่หลับตา ไม่รับประทานอาหาร ตนเอง จึงได้พาไปหาหมอ และมีญาติ ๆ ทักท้วงให้ไปดูดวง ตามความเชื่อ ซึ่งหมอดู ก็บอกว่า เราเองต้องแก้ไขด้วยการทำพิธีมโนราห์โรงครู หรือ รับมโนราห์ ซึ่งก่อนหน้านั้น ก็มิได้มีความเชื่อแต่อย่างใด เนื่องจากตนเอง ไม่มีความรู้ในเรื่องของมโนราห์สักเท่าไหร่ แต่ด้วยความที่เป็นเชื้อสาย สืบต่อกันมาตั้งแต่ รุ่นปู่รุ่นย่า เลยตัดสินใจรับปากที่จะทำพิธีมโนราห์โรงครู แต่มีข้อแม้ว่า ต้องให้ตนเองและครอบครัว ดำเนินกิจการด้านการงานให้มีความเจริญรุ่งเรือง และขอให้ มารดาหายป่วยจากอาการที่เป็นอยู่ หรือถ้าถึงวาระสุดท้ายของมารดาแล้ว ก็ขอให้มารดานอนตายตาหลับ พอรับปากเพียงเท่านั้น ญาติที่เฝ้ามารดาอยู่ที่โรงพยาบาลก็โทรศัพท์มาบอกว่า มารดาได้หลับตาลง และจากไปแล้ว ซึ่งตนเองก็แปลกใจมาก จากนั้นจึงได้ขอเวลา 3 ปี ในการดำเนินกิจการที่มีอยู่ จนมีฐานะที่ดีขึ้น อย่างเห็นได้ชัด และได้ปรึกษากับครอบครัวและญาติ ๆ เพื่อทำตามคำสัญญา ที่รับปากไว้ นั้นคือ การทำพิธีมโนราห์โรงครูในวันนี้


             นายเขียน สมุทรอินแก้ว นายโรงมโนราห์ เล่าให้ฟังว่า ในพิธีมโนราห์โรงครูนั้น จะมีการขับร้องบทมโนราห์ จำนวน 12 บท และมีผู้ร่ายรำมโนราห์ จากนั้นก็จะมีการเชิญครูหมอมโนราห์ มายังบริเวณพิธี เหมือนกับการเข้าทรง เพื่อให้ผู้ที่เจ็บป่วย หรือถูกของตามความเชื่อ ได้มาให้หมอมโนราห์ได้ดู และทำการแก้ หรือ รักษาไปตามความเชื่อ


             “ในปัจจุบัน มีผู้ให้ความสนใจในศิลปะการแสดงมโนราห์น้อยมาก ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ยังทำการแสดงอยู่นั้น ก็มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป และจะให้ความสนใจในการแก้บ่นต่าง ๆ มากกว่าการร่วมสืบทอดการร่ายรำมโนราห์ ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของวิถีวัฒนธรรมที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่และของชาวปักษ์ใต้” นายโรงมโนราห์ กล่าว


ภาพ/เรื่อง เอกรักษ์ ศรีรุ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น