ลวดลายอ่อนช้อยที่เรียงร้อยอย่างงามวิจิตรบนหัวกริชรามัน กริชที่มีตำนานเล่าขานมานานกว่าศตวรรษ
ดูผิวเผินอาจเป็นเพียงลายดอกไม้งดงาม ที่ถูกถ่ายทอดลงบนลายไม้
เพียงวัตถุประสงค์เพื่อความงดงามของหัวกริชเท่านั้น หากแท้จริงเรื่องราวที่ถูกสลักลงบนหัวกริชรามันทุกเล่ม
กลับมากด้วยความหมายที่ลึกซึ้งเกินกว่าจะคาดคิด …
อ.ตีพะลี อะตะบู ประธานกลุ่มเยาวชนทำกริชบ้านตะโละหะลอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ชายไทยมุสลิม ในวัยใกล้เกษียณ
ครูภูมิปัญญาท้องถิ่นผู้สืบสานตำนานการทำกริชรามัน
กริชโบราณแห่งเมืองยะลาบอกเล่าถึงลวดลายที่สลักลงบนหัวกริชว่า
ลวดลายบนหัวกริชรามัน เป็นลวดลายที่คนท้องถิ่นเรียกว่า ” ดอกสิละ” ครู
ตีพะลีอธิบายว่า ลายดอกสิละที่เห็น จะเป็นลวดลายที่เป็นกระบวนท่าร่ายรำสิละ (
ศิลปะการแสดงพื้นบ้านของชาวไทยมุสลิม ชายแดนใต้ ) โดยลายแรกเริ่มจากมี 4 ใบ
เป็นการร่ายรำเบื้องต้น จากนั้นจะม้วนจนไปจบที่ ” ดอกแทง ” คือ ” ท่าแทงกริช ” ซึ่งลักษณะเด่นของดอกแทงนั้น
จะต้องเป็นดอกเดียวที่บานตรง
ก่อนจะขึ้นต้นใหม่ด้วยการม้วนปลายที่เปรียบเสมือนการร่ายรำใน ” ท่าไหว้ขอขมา ” ที่เรียกว่า ลายขั้นสุดท้าย ….
อ.ตีพะลี อะตะบู เล่าว่า ช่างทำกริชที่จะแกะสลักหัวกริชได้
จะต้องมีความเข้าใจในกระบวนท่าร่ายรำทั้งหมดก่อน
ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถถ่ายทอดดอกลายทั้งหมดลงบนหัวกริชได้
นอกจากนั้นจะต้องเข้าใจลึกซึ้งถึงศาสตร์ของการทำกริชอย่างถ่องแท้
เพราะการจะร่ำเรียนวิชาการทำกริชรามันได้นั้น มิใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด…..
ศาสตร์ภูมิปัญญาท้องถิ่นการทำกริชรามันนั้น
อ.ตีพะลี
ได้ย้อนรอยจุดกำเนิดของกริชรามันมาจากความจำเป็นของเจ้าเมืองรามันพระองค์แรกที่จะต้องใช้กริชในพิธีสถาปนาขึ้นครองเมือง
ทำให้ต้องขอความช่วยเหลือไปยังเมืองชวา
เพื่อให้ส่งช่างทำกริชมาช่วยทำกริชให้กับเมืองรามัน
เนื่องจากในเมืองรามันไม่มีช่างฝีมือรายใดที่มีความสามารถในการทำกริช เขาบอกว่า
เมืองไทยสมัยนั้นถ้าอยากมีกริชไว้ใช้จะต้องไปซื้อถึงชวาและสุมาตรา ..
จุดเริ่มต้นของกริชรามันนั้น
อ.ตีพะลี เล่าให้ฟังว่า เริ่มจากช่างทำกริชที่เจ้าเมืองชวาส่งมาให้เจ้าเมืองรามัน
จำนวน 4 ท่าน คือ ท่านปันไดสาระ ท่านปันไดยานา ท่านปันไดซานะ
และท่านปันไดนิรนาม ซึ่งเป็นช่างหลวง ที่เมืองชวามีอยู่ 5 คนในขณะนั้น …
อย่างไรก็ตาม ช่างหลวงทั้ง 4 คนที่ส่งมานั้น ช่างที่มีบทบาทมากที่สุด
และเป็นดั่งสัญลักษณ์ของกริชรามันนั้น ครูตีพะลีบอกว่า คือ ท่านปันไดสาระ เนื่องเพราะเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาการทำกริช
รวมทั้งเป็นผู้ร่างจรรยาบรรณของช่างทำกริช
อันเป็นแนวทางปฏิบัติของช่างทำกริชรามันมาจนถึงปัจจุบัน …
กริชตระกูลท่านปันไดสาระ
เป็นกริชที่ได้รับการยอมรับในกลุ่มนักทำกริช หรือกลุ่มผู้นิยมกริชทั่วโลก
เพราะเป็นกริชที่มีลักษณะโดดเด่นเป็นพิเศษกว่ากริชอื่น โดยเฉพาะใบกริชและหัวกริช
เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นศิลปะรูปหัวนกปือกากา หรือนกพังกระ
หรือนกกินปลาตามที่คนท้องถิ่นเรียก นกปือกากานั้น ครูตีพะลีอธิบายว่า เป็นนกในวรรณคดีท้องถิ่นที่มีความหมายว่า ผู้คุ้มครอง
และกริชรามันจะใช้หัวกริชเป็นรูปนกปือกากาแทบทั้งสิ้น …
นอกจากนั้นความแข็งแกร่ง
ยังเป็นจุดเด่นอีกประการของกริชรามันจากตระกูลปันไดสาระอีกด้วย
เนื่องเพราะมีเรื่องเล่าขานกันว่า ในการประกวดความแข็งแกร่งของกริช
ซึ่งผู้เข้าประกวดจะต้องใช้กริชแทงโอ่งบรรจุน้ำให้แตกนั้น
มีเพียงกริชจากตระกูลปันไดสาระเท่านั้น ที่สามารถแทงทะลุโอ่งได้
เนื่องจากเป็นกริชชนิดเดียวที่มีสันตรงกลางใบกริช และมีสูตรการผสมเนื้อเหล็กที่เน้นความแข็งแกร่งของกริชเป็นพิเศษ
…
อย่างไรก็ดีความงดงามของกริชรามัน
และวัฒนธรรมการทำกริชที่สืบสานมาจากท่านปันไดสาระ นับจากยุคก่อตั้งเมืองรามันนั้น
เป็นศาสตร์ที่แทบจะสูญหายไปจากเมืองรามันในช่วงเวลาหนึ่ง เนื่องจากไม่มีการถ่ายทอด
ครูตีพะลีเองนั้น เขาบอกว่า มีโอกาสได้เรียนรู้การทำกริชจากครูภูมิปัญญาในหมู่บ้าน
ซึ่งเป็นญาติสนิทกัน ทำให้สามารถศึกษาการทำกริช
ในแนวทางของท่านปันไดสาระได้อย่างครบถ้วน …
หลังจากได้ร่ำเรียนจากครูภูมิปัญญาในท้องถิ่น
จนสามารถทำกริชได้ตามหลักการของท่านปันไดสาระแล้ว จึงเห็นว่า
น่าจะอนุรักษ์และรื้อฟื้นศาสตร์และศิลปะการทำกริชรามัน
สืบทอดให้กับเด็กๆและเยาวชนรุ่นหลัง ปี 2542 เขาจึงเริ่มตั้ง
” กลุ่มเยาวชนทำกริชบ้านตะโละหะลอ ” อำเภอรามันขึ้น …
กระนั้นก็ตามในระยะแรก
ดูเหมือนว่า ครูตีพะลีไม่อาจขยายกลุ่มการทำกริชได้ตามที่เขาตั้งเป้าไว้
เมื่อประสบกับอุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะอุปสรรคสำคัญเกี่ยวกับหลักการทำกริช
ซึ่งช่างกริชจะต้องยอมรับจรรยาบรรณของช่างทำกริชที่ท่านปันไดสาระกำหนดไว้ …
นอกจากนั้นความพยายามของเขาที่จะถ่ายทอดการทำกริชที่สมบูรณ์แบบให้กับลูกศิษย์ เพื่อให้ลูกศิษย์มีความสามารถแบบเดียวกับที่เขาเรียนรู้มา
ก็เป็นอุปสรรคที่สำคัญอีกประการหนึ่งด้วย
เมื่อส่วนใหญ่ไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะรับการถ่ายทอดแบบเต็มรูปแบบได้
กระทั่งเขาได้นำรูปแบบการสอนของท่านปันไดสาระ ที่แยกการสอนทำกริชออกเป็นส่วนๆ
ตามโครงสร้างของกริช ที่มีตั้งแต่การผสมเนื้อเหล็กทำใบกริช การตีใบกริช
การทำหัวกริช
การทำฝักกริช และทำปีกฝักกริช โดยสอนตามความสามารถของลูกศิษย์แต่ละคน
วิชาทำกริชรามันจึงเริ่มได้รับการถ่ายทอดออกไปมากขึ้น …
อ.ตีพะลีบอกว่า
ปัจจุบันเขาแบ่งการสอนออกเป็น 3 ระดับ
คือ การสอนชาวบ้าน สอนเยาวชน และสอนเด็กนักเรียนในโรงเรียน
ทั้งนี้เพื่อให้วิชาทำกริชรามันเผยแพร่ออกไปสู่ผู้คนในอำเภอรามันให้มากที่สุด
เพื่อที่จะรื้อฟื้นศาสตร์และศิลป์แห่งการทำกริชรามันขึ้นมาให้เร็วที่สุด …
ในส่วนของชาวบ้านทั่วไปนั้น
ครูจะเน้นสอนเป็นอาชีพเสริม เพื่อเน้นการสร้างรายได้ เสริมให้กับครอบครัว
ส่วนระดับเยาวชน ครูบอกว่าจะเน้นวิชาการผสมเนื้อเหล็ก การตีเหล็ก
เพราะเป็นส่วนที่ไม่ต้องใช้สมาธิและใช้เวลามากนัก ขณะที่ระดับนักเรียน
ซึ่งปัจจุบันเขาสอนอยู่ในโรงเรียนประถมศึกษาบ้านตะโล๊ะหะลอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา โดยสอนสัปดาห์ละ 3 วัน
คือ วันจันทร์ วันอังคารและวันพฤหัสนั้น จะเน้นปลูกฝังรากฐานตั้งแต่ทฤษฎีการทำกริช
และโครงสร้างของกริช
เพื่อให้เด็กนักเรียนเหล่านั้นมีความรู้รากฐานการทำกริชที่สมบูรณ์ที่สุด …
จากจุดเริ่มต้นในปี 2542 กระทั่งปัจจุบัน ตีพะลีบอกว่า
กลุ่มของเขาประสบความสำเร็จในของการสอนเพียงหกสิบเปอร์เซ็นต์เท่านั้น
เพราะแม้จะมีช่างทำกริชที่มีฝีมือของหมู่บ้านถึง สิบสองคน และมีลูกศิษย์มากขึ้น
ซึ่งหากมองในเชิงปริมาณแล้วน่าจะประสบความสำเร็จมากกว่านั้น แต่ครูตีพะลีบอกว่า
ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ เพราะศาสตร์แห่งความสำเร็จของช่างทำกริชนั้น
รายได้และเงินไม่ใช่หัวใจหลักของช่างทำกริช ….
ขณะที่หากเป็นการรื้อฟื้นความเป็นกริชแห่งรามันแล้ว อ.ตีพะลีบอกว่า เขาทำสำเร็จเพียงสี่สิบเปอร์เซ็นต์เท่านั้น
เพราะจนถึงวันนี้ เขายังไม่สามารถรื้อฟื้นกริชรามันให้กลับมาเป็นกริชของชาวรามันได้
เขาเล่าว่า สมัยก่อนในเมืองรามันชาวบ้านจะต้องมีกริชรามันใช้ถึง 7 เล่มในแต่ละบ้าน แต่ปัจจุบันคนรามันมีกริชใช้เพียง 10 ครัวเรือนต่อ 1 เล่มเท่านั้น
…
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ครูตีพะลีภาคภูมิใจมากในวันนี้
คือ นอกเหนือวิชาชีพที่เขาถ่ายทอดให้กับนักเรียน เยาวชนและชาวบ้านในรามันแล้ว
ครูบอกว่า จรรยาบรรณการทำกริชที่มุ่งเน้นการปฏิบัติตัวที่ดี
ซึ่งช่างทำกริชทุกคนต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เป็นหลักการปฏิบัติตัวที่เขาภูมิใจมากที่สุด เพราะ
จะมีผลต่อความสงบสุขในสังคม ….
และนี่คืออีกหนึ่งใน ” ปูชนียบุคคล ” ที่สำคัญของจังหวัดชายแดนภาคใต้
ครูภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ใช้เวลากว่าครึ่งค่อนของชีวิตของเขาทุ่มเท สืบสาน “อัตลักษณ์” ความเป็นคนชายแดนใต้
อันทรงคุณค่า และพร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้ ให้กับคนรุ่นใหม่
ไม่เลือกความต่างทางด้านศาสนาและชาติพันธุ์ ไร้ซึ่งอคติ หวังเพียงแค่ให้ทุกคน
มีจิตสำนึกร่วม ที่พร้อมสานต่อภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ และ
ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข….
--------------------------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น