วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

นมแม่และเดือนรอมฎอน


นมแม่และเดือนรอมฎอน
รอมฎอนเดือนที่มุสลิมทั่วทุกมุมโลกตั้งหน้าตั้งตารอคอยนั้นกลังจะมาถึง ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้แล้ว อินชาอัลลอฮฺ
สำหรับคุณแม่ที่กำลังอยู่ในช่วงของการให้นมลูกๆ และตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะถือศีลอดในเดือนรอมฎอนพร้อมทั้งให้นมลูกไปด้วยนั้น วันนี้ทาง Halal Life ก็ขอนำเทคนิคและวิธีดีๆมาฝากกันนะคะ เรียกได้ว่าเก็บมาจากประสบการณ์ตรงและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อผู้อ่านทุกท่านทั้งที่เป็นคุณแม่ และคุณพ่อที่กำลังค้นหาข้อมูลสำหรับบอกกับภรรยาและให้กำลังใจพวกเธอเหล่านั้นในการทำหน้าที่ของบ่าวผู้ยำเกรงและแม่ผู้ดูแลลูกให้มีประสิทธิภาพทั้ง 2 หน้าที่ไปพร้อมๆกันค่ะ
สำหรับตัวผู้เขียนเองนั้นได้มีโอกาสให้ลูกได้ดื่มนมแม่ตั้งแต่แรกคลอดจนกระทั่งลูก ชายอายุได้ 3 ขวบครึ่งและเราสองคนแม่ลูกก็ผ่านช่วงเวลาของรอมฎอนพร้อมการให้นม ด้วยกันมา 3 ปี อัลฮัมดุลิลลาฮฺ จึงขอใช้ประสบการณ์เล็กๆน้อยๆในครั้งนี้เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนและส่งต่อคำแนะนำเหล่านี้เพื่อให้คุณแม่ที่อ่านบทความนี้ได้เอาไปประยุกต์ใช้กันนะคะ สำหรับคุณแม่ที่ตัดสินใจแน่วแน่แล้วว่าจะถือศีลอดในเดือนรอมฎอนปีนี้พร้อมกับการให้นมลูกไปด้วยนั้น มี 6 เทคนิคดีๆที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ และจะช่วยให้การให้ นมลูกไปพร้อมกับการถือศีลอดนั้น ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป อินชาอัลลอฮฺ
6 เทคนิคสำหรับแม่ให้นมในช่วงเดือนรอมฎอน
1 ใส่ใจในเรื่องของคุณภาพมากกว่าปริมาณ เป็นความจริงที่ว่าในช่วงกลางวันในเดือนรอมฎอนคุณแม่ที่ถือศีลอดนั้นจะไม่สามารถทานอาหารได้ แต่ก็ไม่มีความจำเป็นใดๆที่จะต้องเพิ่มปริมาณอาหารที่ทานในแต่ละมื้อ แต่สิ่งที่คุณแม่ต้องทำคือการเลือกและใส่ใจกับประเภทและสารอาหารที่จะได้รับจากอาหารเหล่านั้นมากกว่าปริมาณที่จะรับประทานเข้าไป โดยการใส่ใจในเรื่องของอาหารครบหมู่ เกลือแร่จากผักผลไม้ และสารอาหารที่ได้จากอาหารประเภทต่างๆ รวมไปถึงอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายของคุณแม่เอง และส่งผลต่อคุณค่าและสารอาหารที่ลูกจะได้รับผ่านทางน้ำนมนั่นเอง  อาหารที่แนะนำคือ ข้าวกล้อง หรือข้าวที่ไม่ขัดสี ข้าวโอ๊ต ผักผลไม้ตามฤดูกาล อินทผาลัม น้ำผึ้ง นมสด(กรณีลูกไม่มี ประวัติแพ้นมวัวหรือผลิตภัณฑ์จากนม) หรือ นมถั่วเหลือง รวมไปถึงถั่วและธัญพืชต่างๆ (พึงระวังถั่วหรือธัญพืชบางชนิดที่เป็นสาเหตุให้เกิดการท้องอืดได้) และหลีกเลี่ยงอาหารมันหรืออาหารรสจัดจนเกินไป เป็นต้น
2 ดื่มน้ำให้เหมาะสมในช่วงที่สามารถดื่มได้ ปกติคุณแม่ที่ให้นมนั้นมักจะมีความรู้สึกกระหายน้ำอยู่ตลอดโดยเฉพาะช่วงหลังจากการให้นมหรือปั๊มนมเก็บไว้ แต่สำหรับในช่วงเดือนรอมฎอนที่ไม่สามารถที่จะดื่มได้ ก็จำเป็นที่จะต้องดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมต่อวันในช่วงก่อนและหลังละศีลอด เพื่อให้ร่างกายสามารถดึงน้ำส่วนนี้ไปใช้ในการทำงานของร่างกายในส่วนต่างๆ ทั้งนี้ปริมาณน้ำที่ร่างกายได้รับนั้นก็จะส่งผลต่อปริมาณน้ำนมด้วยเช่นเดียวกัน
3 หนักไม่เอา เบาๆก่อนก็ได้ ในช่วงเดือนรอมฎอนโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคุณแม่ที่ตัดสินใจถือศีลอดและต้องทำงานบ้านไปด้วยนั้น มีเทคนิคง่ายๆมาฝากกัน การบริหารจัดการเวลาและจัดการงานบ้านตามลำดับความสำคัญ และพิจารณาจากความยากง่ายหรือความหนักของงานเป็นสำคัญ โดยสำหรับงานหนักๆหากประเมินตัวเองแล้วว่าไม่สามารถที่จะทำได้ในขณะที่ต้องถือศีลอดด้วยและให้นมไปด้วยนั้น ก็อาจจะใช้วิธีการเปลี่ยนแปลงเวลาในการทำงานต่างๆโดยให้มีความสอดคล้องกับสภาพร่างกายของแม่ๆแต่ละคน ยกตัวอย่างเช่น งานทำความสะอาดบ้านนั้นปกติอาจจะเคยทำในช่วงสายๆ แต่ในเดือนรอมฎอนเราจะใช้เวลาหลังละหมาดอีชาก็ได้ หรืออาจจะโยกงานเหล่านั้นมาทำในช่วงใกล้ๆละศีลอดหรือช่วงหลังละหมาดซุบฮฺก่อนที่จะงีบพักเอาแรงในช่วงสายๆ ก็สามารถทำได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตารางชีวิตที่แม่แต่ละคนวางแผนไว้นะคะ
4 – พัก..ผ่อนคลาย..เพิ่มพลัง..ผลบุญ คุณแม่หลายคนเป็นคนที่แอคทีฟและไม่ชอบที่จะพักผ่อนในช่วงเวลากลางวัน แต่สำหรับเดือนรอมฎอนนั้นหากมีเวลาช่วงบ่ายๆคุณแม่อาจจะหาเวลางีบสักเล็กน้อย เพื่อเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดและให้ร่างกายได้พักผ่อน และตื่นมาอย่างสดชื่นมีเรี่ยวแรงในการดูแลและเล่นกับลูกอีกด้วยค่ะ อย่าดูถูกพลังแห่งการก็อยลูละฮฺหรือการงีบพักนะคะ เพราะนอกจากจะช่วยให้ร่างกายสดชื่นขึ้นแล้ว การพักงีบหรือก็อยลูละฮฺยังถือเป็นการปฏิบัติตามซุนนะฮฺของท่านนบีมูฮัมหมัด ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม อีกด้วย เรียกได้ว่าทั้งได้พักทั้งได้ผลบุญกันเลยค่ะ อัลฮัมดุลิลลาฮฺ
5 – จับตาดูเจ้าตัวน้อยไว้ให้ดี หากคุณแม่ยังไม่แน่ใจว่าน้ำนมแม่นั้นยังมีปริมาณเหมาะสมกับความต้องการของลูกหรือไม่ ก็ให้เอาใจใส่ หมั่นตรวจดูผ้าอ้อมและนับจำนวนครั้งของการอุจจาระหรือปัสสาวะของลูก ซึ่งเป็นเกณฑ์ปกติที่ใช้วัดการได้รับปริมาณน้ำนมที่พอเพียงต่อลูกน้อยอยู่แล้ว ในช่วงเดือนรอมฎอนนั้น หากแม่ที่ให้นมยังมีความสงสัยและต้องการทราบว่าลูกได้รับปริมาณน้ำนมที่พอเหมาะหรือไม่ก็ให้พิจารณาจากจำนวนครั้งและสีปัสสาวะของลูกน้อย ทั้งนี้อาจจะดูอาการอย่างอื่นของลูกประกอบด้วย โดยเฉพาะเด็กทารก หากเด็กมีอาการขาดน้ำ หรือได้รับน้ำนมไม่เพียงพอ ศาสนาก็อนุมัติให้คุณแม่สามารถงดเว้นการถือศีลอดและถือชดใช้ในภายหลัง หรือหากมีข้อสงสัยก็สามารถสอบถามจากผู้รู้ได้เช่นเดียวกัน
6 – ปั๊มนมไว้เสริม..เพิ่มเติมคือเสบียง สำหรับการปั๊มนม ทั้งในกรณีที่แม่ทำงานนอกบ้านหรือแม่ที่เลี้ยงลูกเต็มเวลาแต่ ต้องการหาตัวช่วยในช่วงเดือนรอมฎอน ก็สามารถทำได้โดยการเลือกปั๊มนมในช่วงเวลากลางคืน อาจจะตื่นมาอ่านอัลกุรอาน ละหมาดสุนนะฮฺต่างๆ แล้วก็ปั๊มนมทำสต๊อกเก็บไว้ใช้ในช่วงกลางวันในขณะที่ถือศีลอด ก็ช่วยลดความอ่อนเพลียของร่างกายได้ ทั้งนี้อายุของลูกก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่แม่ให้นมจำเป็นต้องพิจารณาในการตัดสินใจให้เหมาะสม ตัวอย่างเช่น อายุลูกยังไม่ถึงเกณฑ์ในการให้อาหารเสริมและนมแม่เป็นอาหารหลักของเด็กในตอนนั้น แม่จำเป็นต้องพิจารณาและเอาใจใส่ดูแลลูกเป็นพิเศษ หมั่นนับผ้าอ้อม หรือผ้าอ้อมสำเร็จรูปเพื่อดูถึงปริมาณการปัสสาวะหรืออุจจาระของเด็ก ซึ่งใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินการได้รับน้ำนมที่เพียงพอหรือไม่ และในส่วนของเด็กๆที่เริ่มวัยให้อาหารเสริมควบคู่ไปกับนมแม่นั้น ก็สามารถใช้อาหารเสริม เป็นตัวช่วยคุณแม่ในการพักผ่อน และยืดเวลาทานนมแม่ของลูกได้บ้าง
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้งานวิจัยที่พูดถึงนมแม่ในระหว่างที่แม่ถือศีลอดมีไม่มากนัก วันนี้จึงขอหยิบยกมาทั้งกรณีของงานวิจัยที่ทำขึ้นในกลุ่มของแม่ที่ชาวยิวที่มีการถือศีลอดและให้นมลูก รวมไปถึงงานวิจัยที่ใช้กลุ่มตัวอย่างเป็นกลุ่มแม่มุสลิมที่ถือศีลอดในขณะที่ให้นมลูกไปด้วย โดยมีงานวิจัยดังนี้
1 – งานวิจัยของ Zimmerman ในปี คศ. 2009 ได้ทำการทดลองโดยทดสอบสารอาหารในนมแม่ของผู้หญิงชาวยิวที่มีการถือศีลอดตามศาสนบัญญัติเช่นกัน โดยทดสอบสารอาหารก่อนและหลังการละศีลอดพบว่ามีเพียงสารอาหารบางตัวเท่านั้นที่แตกต่างกันระหว่างช่วงถือศีลอดและละศีลอด
2 – งานวิจัยของ Rakicioğlu ในปี คศ. 2006 ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างที่เป็นกลุ่มของคุณแม่ที่นับถือศาสนาอิสลาม และมี ลูกอยู่ในวัยตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 5 เดือน โดยศึกษาในช่วงเดือนรอมฎอนที่กลุ่มตัวอย่างนั้นถือศีลอด โดยงดเว้นทั้งน้ำและอาหารตั้งแต่ช่วงเวลา 5.00 น. จนถึงช่วง 19.30 น. และค้นพบว่าปริมาณน้ำนมของกลุ่มแม่เหล่านั้นไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด เนื่องจากการดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมในช่วงก่อนการถือศีลอดและหลังละศีลอด มีเพียงแร่ธาตุบางตัวที่ลดลง เช่น ธาตุเหล็กและโพแทสเซียม แต่อย่างไรก็ตามเป็นการลดลงในอัตราที่ไม่สูงมากนัก และหลังละศีลอดแร่ธาตุดังกล่าวก็กลับมาอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจดังเดิม แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณสารอาหารที่แม่แต่ละคนได้รับในช่วงของการละศีลอดด้วยเช่นกัน
จึงอาจสรุปคร่าวๆได้ว่าการให้นมแม่ในช่วงเดือนรอมฎอนในขณะที่แม่ถือศีลอดนั้น ไม่ได้มีความแตกต่างจากนมแม่ในช่วงเวลาปกติมากนัก เพียงแต่อาจจะสารอาหารบางตัวที่ผิดแผกออกไปและสามารถกลับมาเป็นปกติได้อีกครั้งหลังจากการรับประทานอาหารและดื่มน้ำตามปกติ อินชาอัลลอฮฺ
อย่างไรก็ตาม นมแม่นั้นยังถือเป็นอาหารที่ดีเลิศกว่าอาหารทั้งปวงสำหรับทารกอยู่ดี ทาง Halal Life และคอลัมน์ MommyPreneur ก็ขอเอาใจช่วยคุณแม่ทุกท่านในการดูแลลูกซึ่งเป็นอมานะฮฺหรือของขวัญจากพระเจ้าด้วยสิ่งที่ดีที่สุดนั่นคือ นมแม่ในช่วงเดือนที่แสนประเสริฐไปด้วยกันนะคะ ขอเอกองค์อัลลอฮฺ ทรงช่วยเหลือคุณแม่ทุกท่านให้พบความสะดวกง่ายดายในการทำอิบาดะฮฺและการให้นมลูกๆค่ะ อามีน ยาร็อบบฺ
หวังว่าคอลัมน์เล็กๆของนักเขียนหน้าใหม่ๆตัวเล็กๆคนนี้จะมีประโยชน์กับผู้อ่านไม่มากก็น้อยนะคะ หากมีข้อผิดพลาดที่เกิดจากการอ่อนประสบการณ์ของผู้เขียน ผู้เขียนก็ขออภัยมา ณ ที่นี่ด้วย หากพบว่างานเขียนชิ้นนี้มีประโยชน์ รบกวนแบ่งปันพื้นที่ดุอาอฺของทุกท่านให้กับผู้เขียนและทีมงานทุกคนของ Halal Life ด้วยนะคะ
ท้ายสุดนี้ก็ฝากไว้ในส่วนของอายะฮฺอัลกุรอ่านที่ระบุถึง นมแม่คัมภีร์อัลกุรอาน ที่ถูกประทานลงมามากกว่า 1,400 ปีที่แล้ว แต่ทุกตัวอักษรและเนื้อหาในนั้นเป็นความสัจจริงทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต จนกว่าโลกนี้จะสูญสิ้นไป


 เครดิต : เมทินีอดัมโซว์เมล็ดพันธุ์อิสลาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น