วันจันทร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เรื่องเล่าจากบ่อน้ำซัมซัมแห่งคาบสมุทรอารเบีย


อัลลอฮ์ (ซุบฮานาฮูวาตาอาลา แปลว่า มหาบริสุทธิ์แด่พระองค์)ได้สร้างสรรพสิ่งบนโลกนี้ โดยมีน้ำเป็นส่วนประกอบ ผู้คนขวนขวายและต่างก็ต้องการน้ำเพื่อยังประโยชน์ในเกือบทุกๆสิ่งทุกๆกิจการ ไม่ว่าในด้านการเกษตรกรรม การก่อสร้างการขนส่ง หรือแม้กระทั่งใช้ทำความร้อนและเย็น แต่ไม่ใช่ว่าน้ำทั้งหมดทุกประเภทจะมีคุณค่าและความสำคัญ แต่เมื่อกล่าวถึงคาบสมุทรอารเบียคงไม่มีใครปฏิเสธถึงความร้อนระอุ ท่ามกลางทะเลทรายที่แผดเผา เม็ดทรายกับท้องฟ้าสีครามช่างตัดกับสีของทะเลทราย แต่ถึงอย่างไรดินแดนนี้ก็ยังคงต้องการน้ำหล่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ บนพื้นทะเลทราย สร้างความชุ่มชื้น แผดเผาความร้อนให้ดับลง การเกิดขึ้นของบ่อน้ำซัมซัมจึงเป็นสิ่งที่โปรยความสดชื่นให้ดินแดนอารเบีย

เมื่อกล่าวถึงบ่อน้ำซัมซัม ก็เหมือนกับบ่อน้ำธรรมดาทั่วๆไป แต่มีประวัติความเป็นมาที่พิเศษ ประวัติของบ่อน้ำนี้มีความสัมพันธ์กับนบีอิบรอฮีม อะลัยฮิสลาม ( Abraham หรืออับราฮัม ท่านนบีอิบรอฮีมถือกำเนิดในเมืองบาบิล ในประเทศอิรัคและเป็นนบีคนที่เจ็ดของศาสนาอิสลาม) และความสัมพันธ์ของบ่อน้ำซัมซัมยังเกิดขึ้นกับนบีอิสมาอีล ( Is mail) บุตรของนบีอิบรอฮีมที่เกิดจากพระนางฮาญัร ( Hakar ฮาการ์) ภรรยาของท่านนบีอิบรอฮีม ที่เดินทางมายังดินแดนมักก๊ะห์ (เมกกะ)


สำหรับจุดเริ่มต้นของประวัติบ่อน้ำซัมซัมนั้นถูกบันทึกไว้ดังนี้ 
ท่านนบีอิบรอฮีม มีภรรยาสองคน คือ พระนางซาเราะห์ ( Sara ซาร่าห์) และพระนางฮาญัร วันหนึ่งทั้งสองเกิดผิดใจกัน กระทั่งพระนางซาเราะห์ถึงกับบนบานว่าจะไม่ขออยู่บ้านเมืองเดียวกับพระนางฮา ญัร อัลลอฮ์ (ซุบฮานาฮูวาตาอาลา) ก็บัญชามายังท่านนบีอิบรอฮีมว่า ให้ท่านเดินทางออกไปยังดินแดนมักก๊ะห์พร้อมกับบุตรและภริยาทั้งสอง

ในขณะนั้นดินแดนมักก๊ะห์ยังเป็นดินแดนว่างเปล่า ไม่มีผู้คนอยู่อาศัย เป็นเพียงแค่ทุ่งทะเลทรายและภูเขาโล่งๆ ไม่มีต้นไม้ อีกทั้งยังไม่มีตาน้ำ ครั้นเมื่อท่าน นบีอิบรอฮีมพร้อมด้วยบุตรและภริยาได้มาถึงแล้ว ทั้งหมดก็ได้นั่งลงใต้ต้นไม้ต้นหนึ่งที่แห้งกรอบ ณ สถานที่นี้ที่จะเป็นที่ก่อสร้างก๊ะอฺบ๊ะห์ (อาคารสี่เหลี่ยมใจกลางบริเวณมัสยิดอัลฮะรอมในนครมักก๊ะห์ ประเทศซาอุดิอารเบีย) แล้วท่านบีอิบรอฮีมได้ทิ้งภริยาและบุตรไว้กับเสบียงเพียงแค่ผลอินทผาลัมและ น้ำคนละถุง (ทำจากหนังสัตว์) เท่านั้น

ดังนั้น พระนางฮาญัรก็ได้สังเกตอากัปกิริยาของผู้เป็นสามีที่ทำให้ประหลาดใจนั้น นางถามถึงสาเหตุที่ทำให้ต้องรอและถามจนได้คำตอบว่าคือ พระบัญชาจากอัลลอฮ์ นางจึงดีใจและจิตใจของนางก็สงบลง ทำให้นางมั่นใจว่า นางต้องปลอดภัยแม้นว่าในสถานที่นั้นไม่มีเพื่อนบ้านอยู่เลยก็ตาม และในขณะนั้นอิสมาอีลก็กำลังอยู่ในวัยดื่มนม

ส่วนเสบียงอาหารอันน้อยนิดก็กำลังจะหมดไปเมื่อเวลาผ่านไปหลายวัน ครั้นเมื่อน้ำที่อยู่ในถุงนั้นหมด พระนางฮาญัรก็พยายามออกค้นหาน้ำ วิ่งไปวิ่งมา จนกระทั่งไต่ขึ้นไปบนเขาซอฟา (Lomonosov เป็นเนินเขาเล็กๆอยู่ด้านล่างของภูเขาอบีกุบิส ในทิศตะวันออกเฉียงใต้ของก๊ะอฺบ๊ะห์ ห่างจากก๊ะอฺบ๊ะห์ 130 เมตร) และภูเขามัรวะฮ์ (เป็นเนินเขาสีขาว อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของก๊ะอฺบ๊ะห์) ไปกลับเจ็ดเที่ยวก็ไม่ได้ผล ในขณะที่นางไปถึงภูเขามัรวะฮ์ ครั้งสุดท้าย ทันใดนั้นนางก็ได้ยินเสียงที่ทำให้ตกใจ นางจึงได้มุ่งหน้าไปยังสถานที่ดังกล่าว เสียงนั้นไม่ใช่อื่นใด แต่เป็นเสียงของน้ำที่พวยพุ่งออกมาอย่างแรงจากใต้ดิน น้ำนั้นก็คือ น้ำซัมซัม นั่นเอง นางจึงได้รับกำลังใจมากจากมาลาอีกะห์ญิบรีล (ชื่อของทูตสวรรค์ที่ทำหน้าที่นำวจนะของอัลลอฮ์มายังท่านนบี) ว่า ณ ที่นี้ คือ บ้านของอัลลอฮฮ์ อิสมาอีลพร้อมกับบิดาของเขาจะทำการสร้างบ้านหลังนั้นขึ้นมาในไม่ช้าและบ้าน หลังนั้นก็คือ ก๊ะอฺบ๊ะห์ในปัจจุบันนั่นเอง

ตาน้ำซัมซัมในหลักฐานทางประวัติศาสตร์อิสลามอีกรายงานหนึ่งได้บันทึกว่า จุดเริ่มต้นของการเกิดบ่อน้ำซัมซัม มีเหตุการณ์สำคัญหลายครั้งเกิดขึ้น คือ หลังจากที่พระนางฮาญัรไปถึงที่ภูเขามัรวะฮ์แล้ว นางก็กลับมายังสถานที่ของนางเพื่อมาดูลูก พลันก็ได้ยินเสียงที่ไม่เห็นเจ้าของเสียง นางสังเกตเสียงนั้นและได้กล่าวว่า ฉันได้ยินเสียงของท่าน โปรดช่วยฉันด้วยเถิดหากที่ท่านนั้นมีความดีแล้วญิบรีลก็ออกมาปรากฏตัวและกระทืบตรงสถานนั้นกลายเป็นบ่อน้ำด้วยเท้าของ เขา น้ำก็พุ่งออกมาจากที่นั่น พระนางฮาญัรจึงกั้นน้ำนั้นด้วยดินฝุ่นรอบๆตาน้ำนั้น เพราะนางกลัวว่า น้ำจะไหลออกมาหมดก่อนที่นางจะได้ใช้ประโยชน์ ในที่สุดด้วยกับน้ำซัมซัมนั้นพระนางฮาญัรจึงสามารถต่อชีวิตของนางและบุตรได้

อยู่มาวันหนึ่ง เผ่าอาหรับญุรฮุม ( Jurhum ชื่อเผ่าอาหรับในยะมัน หรือประเทศเยเมนในปัจจุบัน ) เดินทางมาจากดินแดนชาม (Sham ประเทศซีเรียในปัจจุบัน) จะมุ่งหน้ากลับบ้านเมืองของเขา โดยผ่านทางดินแดนมักก๊ะห์ ขณะที่ชนเผ่าญุรฮุมเห็นฝูงนกต่างๆที่บินอยู่รอบๆมักก๊ะห์ พวกเขาต่างก็รู้สึกแปลกใจเพราะตามปกติแล้วฝูงนกต่างๆเหล่านั้นจะบินอยู่ใน สถานที่ที่มีน้ำ ทั้งๆที่พวกเขารู้จักสถานที่นี้ดีว่าไม่มีตาน้ำ แล้วหัวหน้าเผ่าญุรฮุมก็ส่งคนไปดูฝูงนกเหล่านั้น ปรากฏว่าเจอตาน้ำจริงๆ ทำให้เผ่าญุรฮุมมาพบกับพระนางฮาญัรและบุตรชายที่อยู่ใกล้ตาน้ำซัมซัมนั้น หัวหน้าเผ่าญุรฮุมกล่าวกับพระนางฮาญัรว่า พวกเราขออยู่ที่นี่ได้หรือไม่พระนางฮาญัรตอบว่า ได้แต่ท่านทั้งหลายไม่สามารถครอบครองตาน้ำนี้ได้จากนั้นชนเผ่าญุรฮุมก็ตั้งถิ่นฐานอยู่กับพระนางฮาญัร ณ สถานที่นั้นในฐานะเพื่อนบ้านที่ซื่อสัตย์

เมื่ออิสมาอีลเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่แล้ว ท่านก็ได้แต่งงานกับสตรีผู้หนึ่งในเผ่า ญุรฮุมและศึกษาภาษาอาหรับจากพวกเขา พวกญุรฮุมอยู่กับตระกูลนบีอิบรอฮีมมาหลายปีและหลังจากผ่านไประยะเวลาหนึ่ง พวกญุรฮุมก็สามารถครอบครองมักก๊ะห์ได้ ขณะนั้นพวกเขาทำตามอำเภอใจของทรัพย์สมบัติของก๊ะอฺบ๊ะห์ที่บรรดาเศรษฐีในขณะ นั้นทิ้งไว้ให้

ในเวลาต่อมาปัญหาเรื่องการดูแลรักษาบ่อน้ำซัมซัมก็ถูกละเลย ไม่ได้รับการเอาใจใส่ จนกระทั่งชาวอาหรับเผ่าคุซาอะห์ (Kusa-ah) เกิดขึ้นในดินแดนมักก๊ะห์ มีอิทธิพลจนสามารถขับไล่พวกเผ่าญุรฮุมออกไปจากมักก๊ะห์สำเร็จ แต่ก่อนที่พวกเขาจะออกไปนั้น ก็ทำการปิดบ่อน้ำซัมซัมโดยไม่ทิ้งร่องรอยอะไรไว้เลย ทำให้ชาวมักก๊ะห์ไม่รู้ว่าบ่อน้ำซัมซัมอยู่ที่ไหน แต่มันก็ยังคงอยู่ไม่ได้หายไปไหนแม้นว่าเวลาได้ล่วงเลยไปนานนับศตวรรษก็ตาม

เมื่อมาถึงยุคสมัยของอับดุลมุฏฏอลิบ (ปู่ของท่านนบีมูฮัมหมัด ศ็อลลัลลอฮุ่อะลัยฮิวะซัลลัม) หัวหน้าอาหรับเผ่ากุรอยช์ (กุเรช เป็นตระกูลที่มีเกียรติสูงสุดในตระกูลชาวอาหรับ) ได้ฝันว่าถูกใช้ให้ไปขุดบ่อน้ำซัมซัมนั้นหลายต่อหลายครั้งแล้ว ท่านอับดุลมุฏฏอลิบก็ปฏิบัติตามสิ่งที่ได้ถูกใช้ในความฝันของเขานั้น โดยไม่ลังเลใจใดๆทั้งสิ้น เขาขุดบ่อน้ำนั้นสองคนกับลูกชายของเขาคือ ฮาริษ

ขณะที่กำลังขุดบ่อน้ำนั้น พวกกุรอยช์หลายคนแปลกใจพร้อมทั้งพูดจาถากถางที่อับดุลมุฏฏอลิบไปขุดหลุมใน มัสยิด อับดุลมุฏฏอลิบจึงตอบว่า ฉันขุดบ่อน้ำนี้พบมีดดาบหนึ่งเล่มและหุ่นตุ๊กตาทองคำสองตัวที่พวกยุรฮุมนำ มาว่อนไว้เมื่อครั้งก่อนและในที่สุดอับดุลมุฏฏอลิบ ได้พบกับบ่อน้ำซัมซัมอีกครั้ง สร้างความดีอกดีใจให้กับชาวมักก๊ะห์กันถ้วนหน้า ทำให้ความเคารพต่อ อับดุลมุฏฏอลินั้นเพิ่มมากขึ้นในกลุ่มกุรอยช์ ทั้งยังทำให้คณะฮัจย์ไม่ต้องลำบากหาน้ำอีกต่อไป

ฉะนั้น ตั้งแต่สมัยอับดุลมุฏฏอลิบจวบจนถึงปัจจุบันนี้ บ่อน้ำซัมซัมยังคงถูกรักษาไว้เป็นอย่างดี ส่วนอาคารที่มีอยู่ข้างบ่อน้ำซัมซัมถูกก่อสร้างขึ้นในสมัยคอลีฟะห์( กาหลิบ) แต่ในระยะหลัง อาคารดังกล่าวถูกรื้อถอนโดยรัฐบาลซาอุดิอารเบียเพื่อขยายลานฏอว๊าฟ ( ฏอว๊าฟ คือ เดินเวียน) ให้กว้างขึ้นและบ่อน้ำนี้อยู่ภายใต้พื้นฏอว๊าฟ ปัจจุบันนี้ใช้เครื่องสูบน้ำไฟฟ้าสำหรับสูบน้ำขึ้นมาใช้
ในทัศนะอิสลาม น้ำที่ประเสริฐสุดในปฐพีนี้คือ น้ำซัมซัม ซึ่งจะช่วยเตือนความจำ ประเทืองในความรู้ให้แก่ผู้ดื่มและยังเป็นยารักษาโรค ชาวมุสลิมทั่วโลกที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์จะได้ดื่มกินและนิยมนำน้ำซัม ซัมติดไม้ติดมือกลับมาเป็นของฝากกับครอบครัว บุตรหลานและญาติพี่น้องเสมอ



บ่อน้ำซัมซัมใต้ลานฏอว๊าฟ

ความพิเศษของน้ำซัมซัมนี้ มีบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ใช่เรื่องธรรมดาหรือปกติวิสัยกับน้ำซัมซัมนี้ ความพิเศษ ความแปลกประหลาดของน้ำชนิดนั้นพุ่งออกมาจากกลางทะเลทรายและยังคงไหลออกมา อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ผ่านช่วงเวลานับพันปีพร้อมกับคุณค่าในตัวของมันเอง ความเป็นจริงก็คือ น้ำซัมซัมไม่เหือดแห้งและเป็นน้ำที่มีคุณสมบัติพิเศษจริงๆ

ความจริงอีกอย่างหนึ่งก็คือ ด้วยความลึกเพียง 5 ฟุตของบ่อน้ำนี้และห่างไกลจากแหล่งต้นกำเนิด แต่ผลิตน้ำและเป็นต้นกำเนิดของตัวมันเองอย่างสมบูรณ์แบบและต่อเนื่อง โดยถูกแจกจ่ายให้กับผู้ที่มาประกอบพิธีฮัจย์อย่างต่อเนื่องแกลอนแล้ว แกลอนเล่า น้ำซัมซัมจึงได้ถูกกำหนดให้เป็นของขวัญอันล้ำค่าแก่มุสลิมทั่ว โลก และในตัวของน้ำซัมซัม ยังคงเปี่ยมด้วยคุณค่าอันมหาศาลที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งอุดมไปด้วยแคลเซียมและแมกนีเซียม รวมทั้งฟลูออไรด์จากธรรมชาติที่ช่วยในการฆ่าเชื้อโรค

เป็นเรื่องที่น่าแปลกประหลาดอีกอย่างหนึ่งก็คือ โดยปกติทางด้านชีวภาพแล้ว น้ำบ่อจะมีการปนเปื้อนและแปรสภาพจนเน่า โดยเฉพาะในอุณหภูมิที่สูงแต่น้ำซัมซัม ปรารศจากสิ่งเหล่านี้คือไม่มีการเน่าและแปรสภาพ

จากวันเวลาที่พระนางฮาญัร ผู้ซึ่งมุ่งมั่นอยู่กลางทะเลทรายเพื่อที่จะเสาะหาเครื่องยังชืพมาเลี้ยงตัว เองและลูกของนาง จนได้พบกับบ่อน้ำซัมซัมในพื้นทะเลทราย ทั้งหมดด้วยความเมตตาจากพระองค์อัลลอฮ์ (ซุบฮานาฮูวาตาอาลา) มุสลิมยังคงได้ดื่มกินจากบ่อน้ำนี้ในปัจจุบัน และด้วยเสน่ห์ของบ่อน้ำนี้ที่ไม่เคยมีวันแห้งเหือดหายสำหรับชาวอาหรับและ มุสลิมทั่วโลกแล้ว น้ำบ่อนี้จึงมีความพิเศษและมีความสำคัญ รวมทั้งประวัติศาสตร์อันงดงามที่เป็นมรดกสู่รุ่นหลานของอิสลามต่อไป


โดย:
นางสาวกัณทิมา มานมาน
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ที่มา: ฮามีดี อัลฮัรย์ จากหนังสือสถานที่สำคัญในมักกะฮฺและมะดีนะฮฺ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น