วันจันทร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

วิถีชีวิต สังคม ประเพณีและวัฒนธรรมต่าง ๆจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่นับถือศาสนาอิสลาม








วิถีชีวิต สังคม ประเพณีและวัฒนธรรมต่าง ๆจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่นับถือศาสนาอิสลาม
จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยได้แก่จังหวัดสตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และพูดภาษามลายูท้องถิ่น มีสภาพความเป็นอยู่ วิถีชีวิต สังคม ประเพณีและวัฒนธรรมต่าง ๆ ตามหลักศาสนาอิสลาม มีลักษณะพิเศษเฉพาะท้องถิ่น   >> แบบสมัยดั้งเดิม (พิธีการแบบชาวบ้าน)

-  ประเพณีการเกิด
เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ หญิงผู้มีครรภ์จะไปฝากท้องกับหมอตำแย (โต๊ะบีแด) โดยจัดเครื่องบูชาหมอ ประกอบด้วย หมาก พลู  ยาเส้น และเงินตามสมควร  การคลอด เมื่อถึงกำหนดคลอด ญาติหรือสามีของหญิงผู้จะคลอด จะไปตามหมอตำแยมาช่วยทำคลอดให้ที่บ้าน ก่อนคลอดต้องเตรียมของต่าง ๆ ประกอบด้วยด้ายดิบหนึ่งขด ข้าวสารจำนวนเล็กน้อย หมาก พลูและเงินตามสมควร เมื่อทารกคลอดออกมาแล้ว หมอตำแยจะชำระล้างทำความสะอาดตัวเด็ก ตัดและผูกสายสะดือ แล้วนำเด็กไปไว้ในถาดใบใหญ่มีผ้าปูรองรับอยู่หลายชั้น แล้วหมอตำแยจะต้มน้ำชำระร่างกายให้แก่ผู้เป็นแม่ แล้วนวดฟั้นทุกส่วนของร่างกาย เพื่อให้เลือดลมเดินสะดวก
            หลัง จากต้มน้ำทำความสะอาดตัวเด็กแล้ว บิดาหรือผู้มีความรู้ทางศาสนาทำพิธีอาซานหรือบัง (พูดกรอกที่หูขวา) และกอมัต (พูดกรอกที่หูซ้าย) แก่เด็กเป็นภาษาอาหรับมีความหมายดังนี้
                    ๑. อัลเลาะห์ผู้ยิ่งใหญ่
                    ๒. ข้าขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลเลาะห์
                    ๓. ข้าขอปฏิญาณว่านบีมูฮัมมัดเป็นทูตของท่าน
                    ๔. จงละหมาดเถิด จงมาในทางมีชัยเถิด แท้จริงข้าได้ยืนละหมาดแล้ว อัลเลาะห์ผู้ยิ่งใหญ่ ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลเลาะห์
              
-  พิธีเลี้ยงรับขวัญบุตร (อาแกเกาะห์ อากีกะฮ์หรือพิธีเชือดสัตว์) 
ตามหลักศาสนาอิสลาม การเชือดสัตว์เพื่อให้สัตว์ที่ถูกเชือดนั้นไปเป็นพาหนะในโลกหน้า โดยบัญญัติให้ชาวอิสลามต้องกระทำด้วยการเชือดแพะหรือแกะที่มีอายุครบสองปี ไม่พิการ โดยกำหนดว่าถ้าได้ลูกสาว ต้องเชือดแพะหนึ่งตัว  ถ้าได้ลูกชาย ต้องเชือดแพะสองตัว  เนื้อแพะหรือแกะที่ถูกเชือดนั้นห้ามขายหรือให้แก่คนต่างศาสนากิน ให้จะจัดและมีขบวนแห่ใหญ่โตเชิญแขกเหรื่อให้มากินเหนียว (มาแกบูโละ) หรือบางรายจัดให้มีการแสดงมหรสพเช่น มะโย่ง ลิเกฮูดูให้ชมด้วย


- ประเพณีแต่งงาน
             ประเพณีแต่งงาน  ภาษาอาหรับเรียกว่า นิกะอ เป็นการทำพิธีแต่งงานตามหลักเกณฑ์และข้อบังคับของศาสนาอิสลาม มีอยู่ห้าประการคือ
                    ๑. เป็นมุสลิม
                    ๒. มีของหมั้น
                    ๓. ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย
                    ๔. มีพยานผู้ชายอย่างน้อยสองคน
                    ๕. ควรทำพิธีอย่างเปิดเผย
            การสู่ขอ เมื่อชายหญิงชอบพอกัน และผู้ปกครองเห็นสมควร ฝ่ายชายจะส่งผู้ใหญ่ไปสู่ขอกับพ่อแม่ของฝ่ายหญิง เรียกว่า มาโซะมีเดาะ มีการตกลงระหว่าง ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย เกี่ยวกับสินสอดทองหมั้นและกำหนดวันหมั้น
พิธี หมั้น  เมื่อถึงกำหนดฝ่ายชายจะจัดเถ้าแก่นำขบวนขันหมาก หรือพานหมากไปยังบ้านฝ่ายหญิง โดยผู้ที่เป็นเจ้าบ่าวไม่ได้ไปด้วย พานหมากมีสามพานคือ พานหมากพลู พานข้าวเหนียวเหลือง และพานขนม ต่อจากนั้นทั้งสองฝ่ายก็จะกำหนดวันแต่งงานและการจัดงานเลี้ยง ก่อนเถ้าแก่จะเดินทางกลับฝ่ายหญิงจะมอบผ้าโสร่งชาย (กาเฮงแปลก๊ะ)  หรือผ้าดอกปล่อยชาย (กาเฮงมาเต๊ะลือป๊ะ) อย่างใดอย่างหนึ่ง และขนมของฝ่ายหญิงให้กลับเป็นการตอบแทนให้แก่ฝ่ายชาย
พิธี แต่งงาน  วันแต่งงาน ขบวนเงินหัวขันหมากประกอบด้วยเจ้าบ่าว เพื่อนเจ้าบ่าว และญาติผู้ใหญ่ จะเดินทางไปยังบ้านเจ้าสาว ทางบ้านเจ้าสาวจะเชิญอิหม่าม คอเต็บ ทำพิธีแต่งงาน พร้อมสักขีพยานและผู้ทรงคุณธรรม (คุณวุฒิ) เมื่อขบวนขันหมากมาถึงบ้านเจ้าสาว เจ้าบ่าว จะมอบเงินหัวขันหมากให้แก่โต๊ะอิหม่าม ตรวจความถูกต้อง บิดาของเจ้าสาวจะไปขอความยินยอมจากเจ้าสาว (ขณะนั้นเจ้าสาวอยู่ในห้อง) โดยบิดาจะถามว่า พ่อจะให้ลูกแต่งงานกับ ?.(ชื่อเจ้าบ่าว) ลูกจะยินยอมหรือไม่ เจ้าสาวก็จะให้คำตอบยินยอมหรือไม่ยินยอม ถ้าไม่ยินยอมพิธีจะดำเนินต่อไปไม่ได้ ถือว่าผิดหลักศาสนา การถามตอบระหว่างพ่อ-ลูก จะต้องมีพยานสองคนคือ คอเต็บ หรือผู้ทรงคุณธรรมฟังอยู่ด้วย เมื่อเจ้าสาวตอบยินยอมก็จะดำเนินพิธีขั้นต่อไป จากนั้นบิดาเจ้าสาวก็วอเรา คือการกล่าวมอบหมายให้โต๊ะอิหม่ามเป็นผู้ประกอบพิธีแต่งงาน โดยการ บาจอกุฎตีเบาะ คืออ่าน กุฎยะฮ คืออ่านศาสนบัญญัติ เพื่ออบรมเกี่ยวกับการครองเรือน เสร็จแล้วจึงทำการ นิกะฮ คือการรับฝ่ายหญิงเป็นภรรยาต่อหน้าโต๊ะอิหม่าม และพยาน โต๊ะอิหม่ามจะจับปลายมือของเจ้าบ่าว แล้วประกอบพิธีนิกะฮ โดยกล่าวชื่อ เจ้าบ่าว แล้วกล่าวว่า ฉันได้รับมอบหมายจาก ?(ชื่อพ่อเจ้าสาว) ให้ฉันจัดการแต่งงานเธอกับ?(ชื่อเจ้าสาว) ซึ่งเป็นบุตรของ?(ชื่อพ่อเจ้าสาว) ด้วยเงินหัวขันหมากจำนวน ?..บาท
            เจ้าบ่าวจะต้องตอบรับทันทีว่า ฉันยอมรับการแต่งงานตามจำนวนเงินหัวขันหมากแล้ว สักขีพยานกับผู้ทรงคุณธรรมกล่าวต่อบรรดาผู้มาร่วมงานในห้องนั้นว่า คำกล่าวของเจ้าบ่าวใช้ได้ไหม ถ้าผู้ร่วมงานตอบว่าใช้ได้ เป็นอันว่าการแต่งงานนั้นถูกต้องแล้วโต๊ะอิหม่าม จะบาจอดุอา หรือบาจอดอออ ขอพรจากพระผู้เป็นเจ้าเพื่อให้อัลเลาะห์ให้พรแก่คู่บ่าวสาว จบแล้วอิหม่ามจะบอกหลักของการเป็นสามีภรรยา แก่เจ้าบ่าวว่า ตามหลักศาสนานั้น ผู้เป็นสามีต้องเลี้ยงดูภรรยาและอยู่ร่วมกันตามหน้าที่ของสามีภรรยา
จากนั้นมีการลงชื่อ โต๊ะอิหม่าม เจ้าบ่าว เจ้าสาว บิดาฝ่ายหญิง และพยานในหนังสือสำคัญเป็นหลักฐาน เป็นอันเสร็จพิธี

 -  ประเพณีมาแกบูโละ
ประเพณีมาแกบูโละ แปลว่า กินเหนียว หมายถึงการกินเลี้ยงในวันแต่งงาน งานเข้าสุหนัด งานเลี้ยงฉลองความสำเร็จ มีการเชิญแขกด้วยวาจา หรือโดยบัตรเชิญ มีการจัดสถานที่สำหรับจัดเลี้ยงอาหาร ที่จัดเลี้ยงเป็นอาหารธรรมดา เช่น มัสหมั่นเนื้อ ไก่กอและ ซุปเนื้อ ผัดวุ้นเส้น ผักสด น้ำบูดู เป็นต้น

-  ประเพณีมาแกแต  (กินน้ำชา)
ประเพณีมาแกแต  (กินน้ำชา) หมายถึงการกินเลี้ยงในงานหาเงินสร้างมัสยิด สร้างโรงเรียนสอนศาสนา หาเงินเพื่อขอความช่วยเหลือจากการประสบอุบัติเหตุ ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากและไม่มีเงินจ่าย อาหารที่เลี้ยงได้แก่ ข้าวยำ น้ำชา หรือ ปูโละซามา (ข้าวหนียวหน้ากุ้ง)

- ประเพณีมาแกสมางัด
ประเพณีมาแกสมางัด คือกินเพื่อความเป็นสิริมงคล เมื่อญาติผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาว จูงเมือเจ้าบ่าวเข้าไปในห้องของเจ้าสาว จัดให้นั่งเคียงคู่กับเจ้าบ่าว ปัจจุบันนิยมจัดให้นั่งบนเก้าอี้บนแท่นหรือบัลลังก์ที่เรียกว่า ปงายางัน
อาหาร ที่ใช้ป้อนเจ้าบ่าว เจ้าสาว มีข้าวเหนียวเหลือง - แดง - ขาว มีสามส่วน ลักษณะเหมือนกลีบสามกลีบประกบกันเป็นพุ่ม เหมือนพุ่มดอกไม้ที่ประดับในพานพุ่มข้าวเหนียวนี้เป็นพุ่มใหญ่ สูงประมาณ ๑ ศอก บนยอดพุ่มมีไข่ต้มแกะเปลือกออกแล้ววางอยู่ ๑ ฟอง ไก่ย่าง ๑ ตัว ขนมกะละแม ขนมก้อ และข้าวพอง  หญิงที่เป็นญาติผู้ใหญ่ของเจ้าสาวจะหยิบข้าวเหนียวไข่ต้ม เนื้อไก่ย่าง และขนมป้อนให้เจ้าบ่าว เจ้าสาวกินคนละคำสลับกันเป็นการกินเพื่อเป็นสิริมงคล

- ประเพณีการเข้าสุหนัต
การเข้าสุหนัต  (มาโซะยาวี)  คำว่า สุหนัด ภาษาอาหรับว่า สุนนะฮ แปลว่า แบบอย่างหรือแนวทาง หมายความว่า เป็นการปฎิบัติตาม นบีที่ได้เคยทำมา
คำว่า มาโซะยาวี  เป็นภาษามลายู (มาโซะ แปลว่า เข้า ยาวี เป็นคำที่ใช้เรียก ชาวอิสลามที่อยู่แถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้โดยส่วนรวม)  หมายถึงเข้าอิสลาม หรือพิธีขลิบหนังปลายอวัยวะเพศชาย
การเข้าสุหนัตชายมักจะทำการเข้าสุหนัตในระหว่างอายุ ๑ ขวบ ถึงอายุ ๑๕ ขวบ หญิงจะเข้าสุหนัตตั้งแต่คลอดใหม่ ๆจนอายุไม่เกิน ๒ ขวบ
พิธีเข้าสุหนัตหญิงนั้น หมอตำแยจะเอาสตางค์แดงมีรู วางรูสตางค์ตรงปลายกลีบเนื้อซึ่งอยู่ระหว่างอวัยวะเพศของทารกหญิงแล้วใช้มีด คม ๆ หรือปลายเข็มสะกิดปลายเนื้อส่วนนั้น ให้เลือดออกมาขนาดแมลงวันตัวหนึ่งกินอิ่ม เป็นอันเสร็จพิธี
ส่วนการเข้าสุหนัตชายนั้น ผู้ทำพิธีขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศเรียกว่า โต๊มูเด็ง บางราย จะจัดงานและมีขบวนแห่ใหญ่โต เชิญแขกเหรื่อให้มากินเหนียว (มาแกปูโละ) หรือบางรายจัดให้มีการแสดงมหรสพ เช่น มะโย่ง ลิเกฮูดูให้ชมด้วย

- ประเพณีฮารีรายอ
ประเพณีฮารีรายอ เทศกาล ฮารีรายอมีอยู่สองวันคือ
๑. วันฮารีรายอ หรือวันอิฎิลฟิตรี เป็นวันรื่นเริง เนื่องจากสิ้นสุดการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน เป็นการกลับเข้าสู่สภาพเดิม ตรงกับวันที่หนึ่งของเดือนเซาวาล ซึ่งเป็นเดือนที่สิบทางจันทรคติ
การปฏิบัติของชาวอิสลามในวันรายอจะบริจาคทานเรียกว่า ซากัดฟิตเราะห์ (การบริจาคข้าวสาร) มีการบริจาคทานแก่คนแก่หรือคนยากจน บางทีจึงเรียกว่า วันรายอฟิตเราะห์ หลังจากนั้นจะไปละมาดที่มัสยิด จากนั้นจะมีการขอขมาจากเพื่อน มีการเยี่ยมเยียนญาติพี่น้องที่อยู่ใกล้และไกลออกไป มีการเลี้ยงอาหารด้วย
๒. วันฮารีรายอฮัจญี หรือวันรายออิฎิลอัฎฮา  คำว่า อัฎฮา แปลว่า การเชือดพลี เป็นการเชือดสัตว์เพื่อเป็นอาหารแก่ประชาชนและคนยากจน อิดิลอัดฮา จึงหมายถึงวันรื่นเริงเนื่องในวันเชือดสัตว์พลี ตรงกับวันที่สิบของเดือนซุลฮิจญะ เป็นเวลาเดียวกับการประกอบพิธีหัจญ์ ที่เมืองเมกกะของชาวอิสลามทั่วโลก ชาวไทยอิสลามจึงนิยมเรียกวันตรุษนี้ว่า วันอีดใหญ่
การปฏิบัติจะมีการละหมาดร่วมกันและเชือดสัตว์เช่น วัว แพะ แกะ แล้วแจกจ่ายเนื้อสัตว์เหล่านั้นแก่คนยากจน การเชือดสัตว์พลีนี้เรียกว่า กรุบาน
การปฏิบัติตนในวันนี้ คือ
๑. อาบน้ำสุหนัต ทั้งชายและหญิง และเด็กที่สามารถไปละหมาดได้ เวลาดีที่สุดคือหลังจาก แสงอรุณขึ้นของวัน ฮารีรายอ
๒. แต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สะอาดสวยงาม
๓. บริจาคซะกาดฟิตเราะห์ก่อนละหมาด อิฎิลฟิตรี
๔. ให้ทุกคนไปละหมาดรวมกันกลางแจ้งหรือที่มัสยิด และฟังการบรรยายธรรมหลังละหมาด
๕. การกล่าวสรรเสริญ อัลเลาะห์
๖. ทำกรุบาน ถ้ามีความสามารถด้านการเงิน
๗. เยี่ยมเยียน พ่อแม่ ญาติ และครูอาจารย์ เพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์กับขออภัยซึ่งกันและกันในความผิดพลาด ที่อาจเกิดขึ้นทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว

- ประเพณีวันเมาลิด
วันเมาลิด  เมาลิดเป็นภาษาอาหรับแปลว่า ที่เกิดหรือวันเกิด หมายถึงวันเกิดของนบีมูฮัมมัด ตรงกับวันที่ ๑๒ เดือนรอบีอุลอาวาล หรือเดือนที่ ๓ ตามปฏิทินอาหรับ วันเมาลิดยังเป็นวันรำลึกถึงวันที่ท่านลี้ภัยจากเมืองเมกกะไปยังเมืองมาดีนะห์ และเป็นวันมรณกรรมของท่านด้วย
กิจกรรมต่าง ๆ ในวันเมาลิดได้แก่ การเชิญคัมภีร์อัล-กุรอ่าน การแสดงปาฐกถาธรรม การแสดงนิทรรศการ ฯลฯ และการเลี้ยงอาหาร

- ประเพณีอาซูรอ
วันอาซูรอ  อาซูรอ เป็นภาษาอาหรับ หมายถึงวันที่สิบของเดือนมุฮัวรอม ซึ่งเป็นเดือนทางศักราชอิสลาม
ในสมัยนบีนุฮ ได้เกิดน้ำท่วมใหญ่ยังเป็นความเสียหายแก่ทรัพย์สินไร่นาของประชาชนทั่วไป ทำให้เกิดขาดอาหาร นบีนุฮ จึงประกาศให้ผู้ที่มีสิ่งของที่เหลือพอจะกินได้ให้เอามากองรวมกัน นบีนุฮ ให้เอาของเหล่านั้นมากวนเข้าด้วยกัน สาวกของท่านก็ได้กินอาหารโดยทั่วกันและเหมือนกัน
ในสมัยนบีมูฮัมมัด (ศ็อล) เหตุการณ์ทำนองนี้ได้เกิดขึ้น ขณะที่กองทหารของท่านกลับจากการรบที่บาดัง ปรากฏว่าทหารมีอาหารไม่พอกิน ท่านจึงใช้วิธีการของนบีนุฮ โดยให้ทุกคนเอาข้าวของที่กินได้มากวนเข้าด้วยกัน แล้วแบ่งกันกินในหมู่ทหาร
เครื่องปรุงสำคัญประกอบด้วย เครื่องแกงมี ข่า ตะไคร้ หอม กระเทียม ผักชี ยี่หร่า ข้าวสาร เกลือ น้ำตาล กะทิ กล้วย หรือผลไม้อื่น ๆ เนื้อ ไข่
วิธีกวน  ตำหรือบดเครื่องแกงย่างหยาบ ๆ เทส่วนผสมต่าง ๆ ลงในกระทะใบใหญ่ เมื่ออาหารสุกเป็นเนื้อเดียวกันแล้วจึงตักใส่ถาด โรยหน้าด้วยไข่เจียวบาง ๆ หรืออาจเป็นหน้ากุ้ง เนื้อสมัน ปลาสมัน ผักชี หอมหั่น พอเย็นแล้วก็ตัดเป็นชิ้น ๆ คล้ายขนมเปียกปูน

 - การพูด จา ชาวไทยมุสลิม
การพูด จา ชาวไทยมุสลิมโดยทั่วไปจะกล่าวคำ บิสมิลลาฮ ฮิรเราะหมานิรเรวะฮีม(بسم الله الرحمن الرحيم) มีความหมายว่า ด้วยนามของอัลเลาะห์ผู้กรุณาปราณี ผู้เมตตาเสมอ เมื่อเริ่มทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กิน นั่ง นอน อาบน้ำ สวมเสื้อผ้า ฆ่าสัตว์เป็นอาหาร เขียน อ่านหนังสือ ฯลฯ ทำให้มีความผูกพันแน่นแฟ้นกับท่าน ทำให้ทุกกิจกรรมของชาวอิสลามทำไปด้วยนามของท่าน และเมื่อบรรลุหรือเสร็จกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กินอาหารเสร็จ เดินทางไปถึงที่หมาย ทำงานบรรลุเป้าหมาย ก็จะกล่าว อัลหัมดุลิลลาฮ(الحمدلله) มีความหมายว่าการสรรเสริญเป็นสิทธิขออัลเลาะห์แต่ผู้เดียว

- การแสดงความเคารพ
การแสดงความเคารพชาวไทยอิสลามเมื่อพบปะหรือกันจะกล่าว สะลาม หรือทักทายกันด้วยคำว่า อัสสะลามอะลัยกุม(السلام عليكم) มีความมายว่า ขอความสันติสุขจงมีแต่ท่าน ผู้รับจะรับว่า วะอะลัยกุมุสสะลาม(وعليكم السلام) หมายความว่า ขอความสันติสุขจงมีแก่ท่านเช่นกัน
การปฏิบัติเกี่ยวกับการกล่าว สะลาม มีหลายประการ คือ
๑. การสะลามและการจับมือด้วย ซึ่งกระทำได้ระหว่างชายกับชาย และหญิงกับหญิง สำหรับชายกับหญิงทำได้เฉพาะผู้ที่อยู่ในฐานะที่แต่งงานกันไม่ได้เท่านั้น เช่น พ่อกับลูก พี่กับน้อง หากชายหญิงนั้นอยู่ในฐานะที่จะแต่งงานกันได้เป็นสิ่งต้องห้าม
๒. ผู้ที่อายุน้อยกว่าควรให้สะลามผู้ที่อายุมากกว่า
๓. เมื่อจะเข้าบ้านไม่ว่าจะเป็นบ้านของตนเองหรือผู้อื่น สิ่งแรกที่จะต้องทำคือ การกล่าวสะลาม ให้แก่ผู้ที่อยู่ในบ้านทราบก่อน หากกล่าวครั้งแรกยังไม่มีผู้รับสะลาม ก็ให้กล่าวอีกสองครั้ง ถ้ายังไม่มีผู้กล่าวรับก็ให้เข้าใจว่า เจ้าของบ้านไม่อยู่หรือไม่พร้อมที่จะรับแขกก็ให้กลับไปก่อน แล้วค่อยมาใหม่
๔. จะต้องมีการกล่าวสะลามก่อนที่จะมีการสนทนาปราศรัย
๕. เมื่อมีผู้ให้สะลาม ผู้ฟังหรือผู้ที่ได้ยินต้อง (บังคับ) กล่าวรับสะลาม ถ้าอยู่หลายคนก็ให้คนใดคนหนึ่งกล่าวรับถือเป็นการใช้ได้ ถ้าไม่มีผู้ใดรับสะลามเลยจะเป็นบาปแก่ผู้นั้น

- การกินอาหาร
การกินอาหาร    มีบัญญัติเรื่องอาหารในอัลกุรอาน โดยให้บริโภคจากสิ่งที่อนุมัติและสิ่งที่ดี ไม่บริโภคอย่างสุรุ่ยสุร่าย และสิ่งที่ก่อให้เกิดโทษแก่ร่างกาย สติปัญญา อาหารที่ไม่อนุมัติเช่นเนื้อหมู เลือดสัตว์ที่ตายแล้ว สัตว์ที่เชือดโดยเปล่งนามอื่นนอกจากอัลเลาห์ สัตว์ที่เชือดเพื่อบูชายัญ ส่วนสัตว์ที่ตายเองต้องมีสาเหตุดังนี้ คือสัตว์ที่ถูกรัด สัตว์ที่ถูกตี สัตว์ที่ตกจากที่สูง และสัตว์ที่ถูกสัตว์ป่ากิน สัตว์ที่ตายเองในห้าลักษณะดังกล่าวหากเชือดทันก็สามารถบริโภคได้ อาหารที่จัดอยู่ในพวกเครื่องดื่มมึนเมา และสิ่งอื่นใดก็ตาม ที่อยู่ในข่ายก่อให้เกิดโทษมากกว่าเกิดประโยชน์ ก็ไม่เป็นที่อนุมัติเช่นกัน เช่นเหล้า ยาเสพติดทุกประเภท ฯลฯ


- รูปแบบสังคม
ชุมชนที่พูดภาษามลายูและนับถือศาสนาอิสลาม มักตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นกลุ่มไม่ปะปนกับชุมชนที่นับถือศาสนาอื่น อยู่กันเป็นหมู่บ้านประกอบอาชีพด้วยกันในชุมชนเดียวกัน มีส่วนน้อยที่อยู่ปะปนกันแต่ต่างคนต่างอยู่ ถ้าจำเป็นต้องอยู่ปะปนกันบ้าง การนับถือศาสนาต่างคนต่างก็ปฏิบัติศาสนกิจของตนไป ไม่เบียดเบียนกัน มีอยู่บ้างที่ไม่ลงรอยกันในเรื่องศาสนาแต่เป็นเรื่องเล็กน้อย


ปัจจุบันผู้ที่พูดภาษามลายูก็สามารถพูดไทยได้เป็นส่วนใหญ่ เพราะมีการศึกษาสูงขึ้นตามความเจริญของท้องถิ่นและความจำเป็นที่ต้องประกอบ อาชีพที่สัมพันธ์กัน สำหรับชาวพุทธที่พูดภาษาไทยก็สามารถพูดภาษามลายูได้ นับว่าเป็นวิวัฒนาการด้านวัฒนธรรมในปัจจุบัน




...............................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น