วันเสาร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เมืองงามในขุนเขา...“เบตง”

บรรยากาศเมืองเบตงยามโพล้เพล้(มองจากจุดชมวิวพิพิธภัณฑ์เบตง)
 เมืองในหมอก ดอกไม้งาม ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน”
คำขวัญอำเภอเบตง” จังหวัดยะลา ที่บ่งบอกถึงตัวตนอันชัดเจนของอำเภอแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีคำว่า โอเค เบตง” (ที่นำมาจากภาพยนตร์ชื่อเดียวกันที่เข้าฉายเมื่อหลายปีก่อน) ก็เป็นอีกหนึ่งคำสะดุดหู ที่หากพูดถึงอำเภอเบตง คำว่า“โอเค เบตง”ย่อมลอยเด่นมาก่อนใครเพื่อน
แลนด์มาร์ค โอเค เบตง ประตูต้อนรับสู่เเบตง
อย่างไรก็ดีท่ามกลางไฟแห่งความขัดแย้งจากสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทำให้คนภายนอกจำนวนมากมองเบตงด้วยความรู้สึกหวั่นๆ ว่าเบตงยังคงไม่โอเค”
ขณะที่ชาวเมืองเบตงในพื้นที่นั้นล้วนต่างบอกว่า เบตง โอเคมานานแล้ว” แต่พวกเขาก็ไม่ประมาทร่วมมือกับทหารที่มาดูแลพื้นที่ ร่วมมือกับภาครัฐช่วยกันสอดส่องเป็นหูเป็นตาอยู่ตลอด     
นั่นจึงทำให้การล่องใต้กลับไปเยือนเบตงของผมอีกครั้ง นอกจากจะพบว่า“เบตง ยังคงโอเค”แล้ว วันนี้เบตงยังคงงดงามทรงเสน่ห์น่าเที่ยวไม่ต่างไปจากวันวาน
เมืองเบตงยามเช้าในม่านหมอกบางๆลอยปกคลุม
เบตง” ชื่อนี้มาจากภาษามลายู คือ "Buluh Betong" ที่หมายถึง ไม้ไผ่” หรือไผ่ตง” เนื่องเพราะในอดีตพื้นที่แห่งนี้อุดมไปด้วยต้นไผ่ แต่ปัจจุบันต้นไผ่สูญหายไปตามสภาพเมืองที่เติบโตขึ้น
เบตง เป็นอำเภอใต้สุดของประเทศไทย เป็นอำเภอใหญ่ในยะลา ห่างจากตัวเมืองยะลาประมาณ 140 กิโลเมตร แต่ห่างจากด่านชายแดนเบตง-มาเลเซียเพียงแค่ประมาณ 7 กิโลเมตรเท่านั้น อำเภอเบตงเป็นพื้นที่พิเศษ รถในเมืองนี้สามารถใช้ทะเบียนเบตงได้เลย โดยไม่ต้องใช้ทะเบียนจังหวัดยะลา
เบตงเป็นอำเภอที่มีทะเบียนรถเป็นชื่อของตัวเอง
เบตง เป็นดินแดนแห่งขุนเขา มีที่ราบประมาณ 10 % ของพื้นที่ มีบรรยากาศคล้ายภาคเหนือตอนบนของไทย มีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี ประชากรส่วนใหญ่ในเบตงนับถือศาสนาอิสลาม แต่ชาวบ้านที่นี้ต่างอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ไม่แบ่งแยก จนมีการผสมผสานทางวัฒนธรรมหลายอย่างเกิดขึ้น ในขณะที่ชาวบ้านชาวเมืองที่นี่ก็น่ารัก มากมิตรไมตรี
สีสันตลาดสดเทศบาลเบตงยามเช้า
ตัวเมืองเบตงตั้งอยู่ในแอ่งกระทะท่ามกลางอ้อมกอดแห่งขุนเขา เมืองเบตงแม้จะเป็นเมืองเล็กๆ แต่ถือเป็นพื้นที่หลักทางการท่องเที่ยว ในใจกลางเมืองสามารถเดินเที่ยวชมสิ่งที่น่าสนใจในอารมณ์ “Walking Thailand” กันได้อย่างไม่ยากเย็น
หอนาฬิกาเบตง ศูนย์กลางของเมืองเบตง
ตัวเมืองเบตงมีศูนย์กลางอยู่ที่ หอนาฬิหาเบตง” ที่ตั้งอยู่ ณ บริเวณ 4 แยกจุดตัดของถนนสุขยางค์กับถนนรัตนกิจ เป็นหอนาฬิกาที่สร้างด้วยหินอ่อนสีขาวนวล รูปทรงสมส่วนดูสง่างาม ถือเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์คและสัญลักษณ์สำคัญของเมืองเบตง 
รอบๆหอนาฬิกามีสายไฟพาดระโยงระยางในช่วงหัวค่ำตามสายไฟเหล่านี้จะมี“นกนางแอ่นบินมาเกาะนิ่งอยู่เต็มพรึ่ดไปหมด
สายไฟมีชีวิตด้วยนกนางแอ่นจำนวนมาก
นกนางแอ่นเหล่านี้มีข้อมูลว่าพวกมันบินหนีหนาวจากไซบีเรียมาอยู่ที่เมืองเบตงในช่วงราวๆเดือนกันยายนถึงมีนาคม ยามหัวรุ่งนกนางแอ่นพวกนี้จะบินไปหาอาหารตามป่าเขา และบินกลับมาเกาะที่สายไฟในช่วงหัวค่ำเป็นอย่างนี้ทุกวัน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนเบตง และสีสันทางการท่องเที่ยว ซึ่งแม้จะมีนักท่องเที่ยวสาวๆหลายคนกลัวนกขี้ใส่หัว แต่ก็มีบางคนกล่าวว่าถ้ามาเบตงแล้วไม่โดนนกขี้ใส่หัวนั้นเหมือนกับว่ายังมาไม่ถึงเบตงโดยสมบูรณ์...ก็ว่ากันไป
โอเค เบตง ที่ตู้ไปรษณีย์สูง ใหญ่
บริเวณ 4 แยกหอนาฬิกาตรงหัวมุมถนนสุขยางค์เป็นที่ตั้งของ “ตู้ไปรษณีย์สูง-ใหญ่ที่เป็นหนึ่งในไฮไลท์สำคัญของเมืองเบตง   ตู้ไปรษณีย์ยักษ์ตู้นี้ ตัวตู้สูง 2.90 เมตร(รวมฐานสูง 3.20 เมตร) มีเส้นรอบวงประมาณ 1.40 เมตร สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2467 โดยคุณ“สงวน จิระจินดาอดีตนายไปรษณีย์โทรเลข อำเภอเบตง ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ของอำเภอเบตงในด้านการติดต่อสื่อสาร เนื่องการในอดีตการเดินทางและการติดต่อสื่อสารระหว่างอำเภอเบตงอื่นๆเป็นไปด้วยความยามลำบาก
ส่งสาส์นถึงคนรู้ใจผ่านตู้ไปรษณีย์ยักษ์ที่ให้ความรู้สึกแตกต่างจากทั่วไป
ตู้ไปรษณีย์สูง-ใหญ่ตู้นี้เคยเป็นอดีตตู้ไปรษณีย์ที่สูงที่สุดในเมืองไทย ก่อนที่ทางเทศบาลเบตงจะจำลองตู้ไปรษณีย์ดังกล่าวไปสร้างขึ้นใหม่ที่หน้าศาลาประชาคม(ถ.สุขยางค์)ด้วยขนาดที่ใหญ่กว่าเดิมถึง 3.5 เท่า มีความสูงประมาณ 9 เมตร แต่ถึงยังไงในเรื่องของความขลังความคลาสสิกแล้ว ตู้ใหม่ยังไงก็สู้ตู้เก่าไม่ได้ ใครและใครหลายคน เวลามาเยือนเบตงมักจะไม่พลาดการเขียนโปสการ์ดนำมาหย่อนส่งที่ตู้นี้ แม้ว่าโลกยุคใหม่จะไม่นิยมใช้โปสการ์ด จดหมายกันแล้ว แต่การได้ส่งสาส์นความคิดถึงผ่านตู้ไปรณีย์ยักษ์แห่งนี้ มันถือเป็นความทรงจำที่มีคุณค่าไม่น้อยเลย
อุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ อุโมงค์รถยนต์ลอดภูเขาแห่งแรกของเมืองไทย
แต่อย่างไรก็ดีโปสการ์ดที่เบตงค่อนข้างหายากและภาพในโปสการ์ดอาจไม่ถูกใจเรา ดังนั้นทางที่ดีควรพกโปสการ์ดติดตัวไปด้วย เพื่อที่จะได้เขียนโปสการ์ดส่งข้อความและภาพสวยๆจากเบตงมาถึงคนที่รู้ใจได้ดังใจที่ต้องการ
ภายในอุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์
จากบริเวณ 4 แยกหอนาฬิกา หากเดินขึ้นไปตามความชันเล็กน้อยของถนนก็จะพบกับ “อุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ที่ตั้งอยู่บริเวณถนนอมรฤทธิ์ตัดกับถนนภักดีดำรง
         อุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นอุโมงค์รถยนต์ลอดภูเขาแห่งแรกของเมืองไทย ที่ขุดทอดโค้งให้รถวิ่งลอดไป-มา มีความยาว 273 เมตร กว้าง 9 เมตร สูง 7 เมตร ภายในอุโมงค์มีฟุตบาทกว้างประมาณ 1 เมตรกว่าๆ ในเดินลอดสัมผัสความน่าทึ่งของอุโมงค์ที่มีการประดับไฟสว่างไสวสวยงาม
ประติมากรรมไก่เบตง เชื้อเชิญให้นึกอยากกินไก่สับเบตงเป็นอย่างยิ่ง
เมื่อเดินจากหอนาฬิกาทะลุอุโมงค์ขึ้นมาก็จะจ๊ะเอ๋กับ ประติมากรรม “ไก่เบตงที่มีอยู่ 2 ตัวใหญ่ สีเหลืองอวบอ้วน ให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายรูปกัน และย้ำเตือนว่า ใครที่มาเยือนเบตงแล้วอย่าพลาดการกินไก่เบตง โดยเฉพาะเมนู“ไก่สับเบตงนั้น คือเมนูคู่ขวัญเมืองเบตง ที่หากใครมาเยือนเมืองนี้แล้วไม่ได้กินไก่สับเบตง ถือว่ายังมาไม่ถึงเมืองเบตง
ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์เมืองเบตง
จากอุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ เมื่อเดินขึ้นเนินไปอีกจะเป็น “พิพิธภัณฑ์เมืองเบตงที่ก่อสร้างด้วยงานสถาปัตยกรรมท้องถิ่นประยุกต์หลังคาซ้อนหลายชั้นในพิพิธภัณฑ์ชั้นหนึ่งเก็บรวบรวมศิลปวัตถุ ข้าวของเครื่องใช้ โบราณวัตถุ อาทิ ถ้วยชามเครื่องเคลือบ โต๊ะ ตู้ เตียง โบราณ ตะเกียงเก่า เรือสำเภาจำลอง กี่ทอผ้า อุปกรณ์ปั่นฝ้าย ส่วนชั้นสองจัดแสดงภาพเก่าเมืองเบตง และข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจในเมืองนี้ 
ภายในพิพิธภัณฑ์เมืองเบตง
พิพิธภัณฑ์เมืองเบตงยังมีความพิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือ เป็นจุดชมวิวชั้นดีที่เมื่อขึ้นไปชั้นบนสุดมองลงมาจะเห็นตัวเมืองเบตงได้อย่างชัดเจน ในขณะที่ลานดาดฟ้าตึกหลังหนึ่งข้างๆพิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่เต้นแอโรบิกยามเย็นที่คึกคักไปด้วยลีลายักย้ายส่ายส่วนต่างๆของร่างกายจากผู้คนในพื้นที่ ซึ่งผมเห็นแล้วอดขยับแข้งขยับขาตามมาไม่ได้
ยอดพระมหาธาตุเจดีย์ พระพุทธธรรมประกาศ กับสายหมอกยามเช้าที่ลอยละล่อง
ขณะที่หากขึ้นมาชมวิวเมืองเบตงที่นี่ในยามเช้า ส่วนใหญ่ก็จะเห็นสายหมอกลอยอ้อยอิ่งอวดโฉมแตกต่างกันออกไปตามสภาพอากาศ ไม่ว่าจะลอยปกคลุมเมืองขาวโพลน ลอยปกคลุมบางๆ หรือลอยอยู่ตามยอดเขาแวดล้อมเมือง
ดังเช่นในเช้าวันที่ผมขึ้นไปยืนชมวิวที่จุดชมวิวพิพิธภัณฑ์เมืองเบตง เมื่อมองไปฟากหนึ่ง เห็นยอดเจย์สีทองเหลืองอร่ามโผล่พ้นออกมาจากยอดไม้ ในท่ามกลางสายหมอกลอยละเรี่ยไกลๆไต่ยอดเขา ดูสวยงามไม่น้อย
พระมหาธาตุเจดีย์ พระพุทธธรรมประกาศ วัดพุทธาธิวาส
สำหรับเจดีย์สีทององค์นี้คือ “พระมหาธาตุเจดีย์ พระพุทธธรรมประกาศแห่ง“วัดพุทธาธิวาสวัดสำคัญในตัวเมืองเบตงวัดพุทธาธิวาส หรือ “วัดเบตงเดิม มีไฮไลท์สำคัฐคือ พระมหาธาตุเจดีย์ พระพุทธธรรมประกาศ ที่หมายถึงการประกาศธรรมของพระพุทธเจ้า เป็นเจดีย์ที่สร้างด้วยศิลปะศรีวิชัยอันสวยงามสมส่วน สีทองอร่าม ตั้งเด่นเป็นสง่าบนเนินเขา
ภายในเจดีย์ชั้นบนสุดบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า และมีพระพุทธธรรมประกาศเป็นพระประทาน มีรอยพระพุทธบาทขนาดใหญ่อยู่ที่ชั้นล่าง
พระพุทธธรรมกายมงคล ปยุรเกศานนท์สุพพิธาน วัดพุทธาธิวาส
นอกจากนี้ที่วัดพุทธาธิวาสยังมี “พระพุทธธรรมกายมงคล ปยุรเกศานนท์สุพพิธานพระพุทธรูปกลางแจ้งองค์โต และวิหารหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืดให้สักการบูชาและนี่ก็คือเสน่ห์ของส่วนของตัวเมืองเบตง เมืองเล็กๆแต่งดงาม ที่มีหลากหลายสิ่งให้เที่ยวชม ทั้งภาคกลางวัน กลางคืน รวมถึงมีอาหารอันหลากหลายให้เลือกอร่อย
อุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ ยังคงเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวมาทุกยุคทุกสมัย
สำหรับการกลับไปเยือนเบตงอีกครั้งในครั้งนี้ นอกจากจะพบว่า“เบตง ยังคงโอเคแล้ว วันนี้เบตงยังคงงดงามทรงเสน่ห์น่าเที่ยวไม่ต่างไปจากวันวาน และนั่นก็เป็นมนต์เสน่ห์สำคัญที่ทำให้ผมยังคงรักเบตงอยู่เสมอ
โอเค เบตง ..ยิ้มจากใจชาวเบตง
เครดิต : ปิ่น  บุตรี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น