วันพุธที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

การแห่ขันหมาก (บุหงาซีเร๊ะ) ประเพณีมลายูท้องถิ่นที่แสดงออกถึงฐานะฝ่ายเจ้าบ่าว




"บุหงาซีเร๊ะ" คือ การแห่ขันหมากในงานแต่งงานเป็นประเพณีมลายูท้องถิ่นที่แสดงออกถึงฐานะของฝ่ายเจ้าบ่าวในการ แห่ขันหมากไปบ้านเจ้าสาว ในขบวนขันหมากของเจ้าบ่าวประกอบด้วยพานขันหมากตามที่ตกลงกันระหว่างฝ่ายเจ้าสาวและเจ้าบ่าว แต่สำหรับพ่อแม่หญิงสาวบางคนไม่กำหนดตัวเลขของพานขันหมาก แล้วแต่ฝ่ายชายจะนำไปเท่าไร แต่ต้องเป็นจำนวนเลขคี่อย่างน้อย 5 ขัน หรือ 9 ขัน 13 ขัน แล้วแต่ความสามารถของฝ่ายชาย


สำหรับคนที่มีฐานะดีจะกำหนดขันหมากมากกว่าคนที่มีฐานะปานกลาง ซึ่งในการแห่ขันหมากนั้นจะมีการตั้งแถวขบวน ทางฝั่งเจ้าบ่าวจะทำการตั้งขบวน โดยมีพ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อนเจ้าบ่าวร่วมอยู่ในขบวน และถือสิ่งของ ขันหมากสำคัญ ๆ คือ บุหงาซีเร๊ะ ( พานหมากพลู) ข้าวเหนียวเหลือง (ปูโละซือมางะ) นำหน้าขบวน แถวถัดมามีถือถาดขนมหวานในท้องถิ่น อาทิเช่น วุ่น นาซิมานิส กะละแม เป็นต้น


โดยจะถือเป็นคู่ ถัดมาก็มีการถือถาดผลไม้ เครื่องแต่งกายของเจ้าสาว อาทิเช่น ผ้าชุด ผ้าละหมาด ผ้าโสร่ง รองเท้า ร่ม กระเป๋าสตรี เป็นต้น ซึ่งของทุกชิ้นจะจัดห่อไว้ด้วยพลาสติกหลากสีอย่างสวยงาม สร้างสีสันความสวยงานในขบวนแห่ ถัดมาก็เป็นแถวของบรรดาญาติพี่น้อง เพื่อนเจ้าบ่าวร่วมในขบวนแห่ขันหมาก ซึ่งการยกขันหมากจำนวนคนจะมามากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการเชิญของฝ่ายเจ้าบ่าวให้ร่วมในขบวนแห่ขันหมาก


สำหรับผู้ที่จะถือขันหมาก นิยมเลือกสาวๆ ญาติฝ่ายชาย คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต หรือเป็นคนที่น่านับถือ ถือขันหมาก เมื่อขบวนพร้อมแล้วก็จะมุ่งหน้าเดินแห่ขันหมากไปบ้านเจ้าสาว เมื่อไปถึงบ้านเจ้าสาว จะมีคนออกมารับขันหมาก อาจเป็นสาว ๆ หรือ ผู้มีอาวุโสซึ่งเป็นญาติๆ ของฝ่ายหญิงมารับขันหมาก ตั้งที่บังลังแต่งงาน สร้างความสวยงาม สีสันให้แขกที่มาร่วมงานจะต้องได้เห็นบังลังค์เจ้าสาว และพานขันหมากของเจ้าบ่าวที่นำมาให้เจ้าสาวว่าสวย ดูดี หรูหราหรือไหม และเชิญแขกขึ้นบ้านรับประทานอาหารร่วมยินดีกับคู่บ่าวสาว


ซึ่งประเพณีการแห่ขันหมากในงานแต่งงานเป็นบรรยากาศหนึ่งที่แขกร่วมงานต่างรอค่อยที่จะดูความสวยงามของพานขันหมาก และเจ้าบ่าว ในขบวนแห่ขันหมาก เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของประเพณีนิยมของชาวมุสลิมมลายู

--------------------


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น