ดูแล
ใส่ใจ สุขภาพ ช่วง ถือศีลอด เดือน รอมฎอน
ทุกปีในเดือน รอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่ 9
ตามปฏิทินทางจันทรคติของอิสลาม เป็นเดือนที่ชาวมุสลิมถือศีลอดทั้งเดือน
ด้วยเหตุนี้จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า เดือนบวช
และถือว่าเป็นเดือนที่สำคัญที่สุดเดือนหนึ่ง
นพ.ปรีชา วงศ์ศิลารัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลา
ให้ข้อมูลว่า การ ถือศีลอด ตามความหมายทางศาสนาของอิสลาม คือ การงดเว้นจากการกิน
การดื่ม การเสพ การร่วมประเวณีระหว่างสามีภรรยา ตลอดจนการกระทำที่ขัดกับคุณธรรม
ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนถึงดวงอาทิตย์ตก ซึ่งช่วงเวลาที่อดอาหาร อดน้ำ ในแต่ละวัน
และพฤติกรรมการรับประทานที่แตกต่างกันของแต่ละคน
อาจทำให้ช่วงเวลาถือศีลอดยาวนานได้ตั้งแต่ 13 ถึง 20 ชั่วโมงต่อวัน
เป็นเช่นนี้ต่อเนื่องกันไป 29-30 วัน
จึงอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพโดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
วิธีการดูแลสุขภาพในเดือนถือศีลอดสำหรับประชาชนทั่วไป
1.รับประทานอาหารสุกใหม่ ๆ
หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัด
เพราะจะทำให้กระหายน้ำได้ระหว่างการถือศีลอดในตอนกลางวัน
2.
สำหรับอาหารมื้อเย็นควรเริ่มด้วยอาหารเหลวย่อยง่าย
หลีกเลี่ยงอาหารที่ย่อยยากเพราะจะทำให้กระเพราะอาหารทำงานหนักขึ้น
3. อาหารมื้อเย็น
ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารมากเกินไป
เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวกระเพาะอาหารจะมีน้ำย่อยออกมามาก
การรับประทานอาหารอย่างรวดเร็วจะทำให้กระเพาะอาหารปรับตัวไม่ทัน
ระบบย่อยอาหารแปรปรวน เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ
หากเกิดขึ้นบ่อย
ๆ อาจทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารเรื้อรังต่อไปได้
4. หลีกเลี่ยงการนอนทันทีหลังรับประทานอาหาร
ต้องอย่างน้อย 2-4 ชั่วโมง เพราะการนอนหลังรับประทานอาหารทันที
อาจทำให้น้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับ
ทำให้ระบบย่อยอาหารแปรปรวนเกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ
5. ก่อนรับประทานอาหารหรือปรุงอาหารควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง
สำหรับน้ำดื่มควร เป็นน้ำที่สะอาด เช่น น้ำต้มสุก หรือน้ำบรรจุขวดที่ได้มาตรฐาน
สำหรับโรคที่ควรหลีกเลี่ยงการถือศีลอด
ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคไต ผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนไต หรือนิ่วที่ไต
โรคปอดและหัวใจที่รุนแรง โรคกระเพาะ โรคลมชัก และโรคไมเกรน
ซึ่งหากผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังที่ตั้งใจจะถือศีลอด
ควรแจ้งให้แพทย์ที่รักษาเป็นประจำได้ทราบล่วงหน้าก่อนที่จะเริ่มถือศีลอดเพื่อขอคำแนะนำในการดูแลสุขภาพอย่างถูกต้อง
หมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายเพื่อการตรวจรักษาได้ทันเวลา
นพ.ปรีชา ย้ำว่า โรคเบาหวาน
เป็นโรคที่ไม่เหมาะกับการอดอาหารมากที่สุด
เนื่องจากจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ จากการอดอาหาร
หรือเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง จากการงดทานยารักษาเบาหวาน
ดังนั้นควรให้ความใส่ใจและดูแลตนเองเป็นพิเศษ
ซึ่งการถือศีลอดในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 นั้น มีความปลอดภัย
หากผู้ป่วยรู้สภาวะโรคของตนเอง
และสามารถปรับพฤติกรรมการกินอาหารปรับเปลี่ยนการใช้ยาอย่างถูกต้อง
แต่ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 หากผู้ป่วยมีความต้องการถือศีลอด
ต้องตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดช่วงตลอดวันที่ถือศีลอด
ปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้
จากข่าวที่พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ 2012 หรือเมิร์ส-โควี
รายแรกในไทย ซึ่งในช่วงเดือนถือศีลอด
พี่น้องชาวไทยมุสลิมบางส่วนอาจเดินทางไปประเทศแถบตะวันออกกลาง
พื้นที่พบการระบาดของโรค เพื่อไปประกอบพิธีศาสนา จึงควรรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล
หลีกเลี่ยงสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจหรือผู้ที่มีอาการไอจาม
ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่ หลีกเลี่ยงการเข้าไปสัมผัสกับอูฐ หรือดื่มนมอูฐดิบ
สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคปอดเรื้อรัง โรคไตวาย
หรือผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ ควรระวังเป็นพิเศษ
ผู้เดินทางกลับจากประเทศที่มีความเสี่ยงเป็นเวลา 14 วัน
ถ้ามีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอหลีกเลี่ยงคลุกคลีบุคคลอื่น สวมหน้ากากป้องกันโรค
ล้างมือให้สะอาด และรีบไปพบแพทย์
“ไม่เพียงแต่พี่น้องชาวมุสลิมเท่านั้น
การรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรปฏิบัติ เพื่อการมีสุขภาพดี
สร้างภูมิคุ้มกัน ปราศจากโรคภัยทั้งโรคติดต่อ และโรคไม่ติดต่อได้” นพ.ปรีชา กล่าวทิ้งท้าย
เครดิต
: กิดานัล กังแฮ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น