วันพุธที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ประเพณีถือศีลอดในเดือนรอมฎอน

ประวัติความเป็นมา
การถือศีลอดเดือนรอมฎอน
                  ในทุกๆ ปี ศาสนิกชนมุสลิมในศาสนาอิสลามจะปฏิบัติภารกิจถือศีลอดเดือนรอมฎอน เป็นการทดสอบความศรัทธาอันแรงกล้าต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าที่ประทานพระบัญญัติแก่มวลมนุษย์ เพื่อฝึกฝนให้มวลมนุษย์รู้จักความอดกลั้นอดทน มีจิตใจหนักแน่น และไม่ท้อถอยอย่างง่ายดายต่อความยากลำบากที่เผชิญอยู่ ณ เบื้องหน้า
                  เมื่อย่างเข้า เดือนรอมฎอน (رمضان‎)  หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ชาวมุสลิมจะเริ่มถือศีลอดตลอดช่วงเดือนนี้เป็นเวลา 2930 วัน เป็นการปฏิบัติตนตามบทบัญญัติข้อที่สี่ในหลักปฏิบัติศาสนบัญญัติ 5 ประการ  คือ
1). การกล่าวปฏิญาณตนว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลเลาะห์ และนบีมูฮำหมัดเป็นศาสนทูตของพระองค์
                  2). ดำรงละหมาด
                  3). บริจาคทาน (ซะกาต)
                  4). ถือศีลอดในเดือนรอมฎอน และ
                  5). ประกอบพิธีฮัจย์ที่นครมักกะฮฺ
                  การถือศีลอดนี้ หมายถึงการตั้งใจประกอบศาสนกิจเพื่ออัลเลาะห์ ด้วยการอดอาหาร งดเครื่องดื่ม อดการบริโภคทุกชนิด พร้อมทั้งงดเว้นจากการร่วมประเวณี จะต้องระมัดระวังตนเองไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับสิ่งต้องห้ามของศาสนาและการกระทำในสิ่งที่ไร้สาระ
การกระทำใดๆ ที่ฝ่าฝืนคำสั่งของพระเจ้า ไม่ว่าจะด้วย
ทางมือ ด้วยการทำร้าย หรือหยิบฉวย ลักขโมย
ทางเท้า ด้วยการก้าวย่างไปสถานที่ต้องห้าม
ทางตา ด้วยการจ้องมอง ดูสิ่งลามก
ทางหู ด้วยการฟังสิ่งไร้สาระ การฟังคำนินทาให้ร้าย และ
ทางปาก ด้วยการโกหก โป้ปด ให้ร้าย พูดเรื่องไร้สาระ หยาบคาย
                   โดยการปฏิบัติตนเพื่อละเว้นจากการกระทำผิดนี้ เริ่มตั้งแต่รุ่งอรุณจนกระทั่งดวงอาทิตย์ตกดิน และแสดงให้เห็นว่าการถือศีลอดนั้นไม่ได้จำกัดเพียงเฉพาะการอดอาหารดังที่เข้าใจกันโดยทั่วไปเท่านั้น หากยังรวมถึงการระมัดระวังตนมิให้ประพฤติผิดในเรื่องอื่นๆ ด้วย

                    สาระสำคัญของการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนนั้น มีวัตถุประสงค์ คือ เพื่อให้ผู้ถือศีลอดได้สัมผัสและรับรู้ถึงความทุกข์ยากลำบาก ได้เรียนรู้ถึงอุปสรรรคต่างๆ ของการดำเนินชีวิต และเมื่อได้สัมผัส ได้รับรู้ถึงความทุกข์ยากแล้ว การถือศีลอดจึงส่งผลสืบเนื่องให้ผู้ถือศีลนั้นรู้จักอดกลั้นอดทนต่อความทุกข์ยากต่างๆ ด้วยความพากเพียรและสติปัญญา กล่าวคือ ฝึกฝนจิตใจของชาวมุสลิมทุกคนให้เป็นผู้มีสติ หนักแน่น มีจิตใจอดทนอดกลั้นทั้งต่อความหิวโหย ต่อความโกรธ ความปรารถนาแห่งอารมณ์ และสิ่งยั่วยวนนานับประการ ซึ่งผลที่ได้จากความเพียรคือการพัฒนาตนเองไปในทางที่ดี มีความใฝ่สูงด้านจิตใจอยู่ตลอดเวลา จิตสงบ ไม่ฟุ้งซ่านและพร้อมที่จะเผชิญและฝ่าฝันอุปสรรคต่างๆ นานา มุ่งสูงความสำเร็จ การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนของชาวมุสลิมจึงมีคุณประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิต ต่อหน้าที่การงาน และกิจวัตรประจำวันของชาวมุสลิม นอกเหนือไปจากความยำเกรง และศรัทธาอย่างแรงกล้าที่จะได้ใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้า
นอกเหนือจากการได้สัมผัสความทุกข์ยากและการอดทนแล้ว การถือศีลอดรอมฎอนยังเป็นกุศโลบายให้มวลมนุษย์รู้จักดำรงชีพด้วยความสมถะและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น แก่นธรรมนี้คือการขัดเกลาจิตใจให้ละเว้นจากความละโมบ และความตระหนี่นั่นเอง ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญต่อการอยู่ร่วมกันในสังคมของมนุษย์
                     ชาวมุสลิมที่จะถือศีลอดได้จะต้องบรรลุศาสนภาวะ มีอายุ 15 ปีขึ้นไป และหญิงที่เริ่มมีประจำเดือนจะต้องเริ่มถือศีลอดในปีนั้นๆ เป็นผู้ที่มีร่างกายสมบูรณ์ ไม่เจ็บป่วย ไม่อยู่ในระหว่างการเดินทาง หากมีเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นสามารถขอผ่อนผันได้โดยเมื่อหายป่วยไข้โดยสมบูรณ์ หรือเสร็จสิ้นการเดินทางจะต้องกลับมาถือศีลอดให้ครบตามจำนวนวันที่ขาดหายไป และผู้ที่ได้รับการยกเว้นเข้าถือศีลอดในเดือนรอมฎอน แต่ให้จ่ายซะกาตประเภทอาหารแก่ผู้ยากไร้เป็นการทดแทน ได้แก่

1. คนชรา
2. คนป่วยเรื้อรังที่แพทย์วินิจฉัยว่ารักษาไม่หาย
3. หญิงมีครรภ์และแม่ลูกอ่อนที่ให้นมทารก ซึ่งเกรงว่าการถือศีลอดอาจเป็นอันตรายแก่ทารก
4. บุคคลที่สุขภาพไม่สมบูรณ์ ซึ่งเมื่อเขาถือศีลอดจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
5. บุคคลที่ทำงานหนัก  บุคคลที่ทำงานกลางแจ้ง เช่น งานในเหมือง งานในทะเลทราย เป็นต้น
   ผู้ที่จะถือศีลอดต้องมีความพร้อมทั้งด้านร่างกายและจิตใจ และมีความแน่วแน่ที่จะฝ่าฟันอุปสรรค ความยากลำบากด้วยความสมัครใจตลอดเดือนรอมฎอน ภารกิจที่ผู้ถือศีลอดควรกระทำตลอดช่วงเดือนรอมฎอน คือ การศึกษาพระคัมภีร์อัลกุรอ่านเพื่อ
ทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้และสามารถ ปฏิบัติตามพระวัจนะของพระเจ้าได้โดยไม่ผิดเพี้ยน ด้วยคติทางศาสนาว่าเดือนรอมฎอนคือเดือนที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานคัมภีร์อัลกุรอ่านให้เป็นธรรมนูญชีวิตของมุสลิมทุกคนพึงยึดถือปฏิบัติไว้ให้มั่น
ชาวมุสลิมจึงยึดถือว่าเดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่มีความประเสริฐ การปฏิบัติศาสนพิธีและท่องคำภีร์อัลกุรอ่านในเดือนรอมฎอนนี้จึงปฏิบัติเป็นกรณีพิเศษ
  ระยะเวลาการถือศีลอดในแต่ละวันจะดำเนินไปในช่วงรุ่งอรุณจนถึงพลบค่ำ เมื่อพ้นเวลาดังกล่าวแล้วจึงสามารถ ละศีลอด สามารถรับประทานอาหาร ดื่มเครื่องดื่ม และปฏิบัติกิจวัตรได้ตามปกติ แต่ต้องกระตือรือร้นละศีลอดทันทีในเวลาที่พระผู้เป็นเจ้าได้กำหนดไว้ให้เพื่อการรักษาคุณงามความดีของผู้ปฏิบัติ วิธีการละศีลอดที่ชาวมุสลิมยึดถือคือให้รีบละศีลอดก่อนละหมาด และรับประทานผลอินทผลัมและดื่มน้ำเพื่อชดเชยน้ำ วิตามิน แร่ธาตุ และสารอาหารที่จำเป็นที่สูญเสียไปในระหว่างวัน     
                    การถือศีลอดจะดำเนินไปตลอดทั้งเดือนรอมฎอน กระทั่งเข้าสู่ 10 คืน
สุดท้ายของเดือน ชาวมุสลิมจะปฏิบัติศาสนกิจเรียกว่า เอี๊ยะติกาฟ คือ การบำเพ็ญตนเพื่อประกอบศาสนกิจในมัสยิด อาทิ การละหมาด การอ่านคำภีร์อัลกุรอ่าน การขอดุอาอ์ ที่จะต้องปฏิบัติภายในมัสยิดเท่านั้น และไม่สามารถออกจากมัสยิดได้นอกจากเหตุ
จำเป็นเท่านั้น เมื่อสิ้นสุดการถือศีลอดใน วันอิฎิลฟิตรี หรือ วันอีด คือ วันที่ 1 ของเดือนเชาวาล (เดือน 10 ต่อจากเดือนรอมฎอน) ชาวมุสลิมจะอาบน้ำชำระร่างกาย สวมเสื้อผ้าสวยงาม ทานอาหารเล็กน้อยก่อนจะไปร่วมละหมาดอิฎิลฟิตรี ซึ่งเป็นการละหมาดร่วมกันที่ลานกว้าง จ่ายซะกาต (ฟิตเราะห์) เยี่ยมเยียนญาติมิตรเพื่อให้อภัยและอวยพรให้แก่กันเพื่อเริ่มต้นการดำเนิน ชีวิตในวันใหม่อย่างผาสุก
  ผู้คนโดยทั่วไปมักเข้าใจว่า การถือศีลอดนั้นกระทำเพียงเฉพาะในเดือนที่เก้าตามปฏิทินอิสลาม ในความเป็นจริงแล้วการถือศีลอดสามารถทำได้ตลอดทั้งปีด้วยการ ถือศีลอดโดยอาสา กล่าวคือ พระวัจนะของศาสดาที่ปรากฏใน (อัลบุคอรี 30: 56) กล่าวว่าการถือศีลอดโดยอาสาเพียงเดือนละ 3 วัน ก็เป็นการประพฤติปฏิบัติที่เหมาะสมได้เช่นกัน ทั้งยังมีรายละเอียดและข้อกำหนด
เกี่ยวกับการถือศีลอดเพิ่มเติมว่าชาวมุสลิมสามารถถือศีล อดได้ตามช่วงเวลาดังนี้

1. ถือศีลอด 6 วัน ในเดือนเซาวาล (เดือนที่ 10 ตามปฏิทินอิสลาม)
2. วันขึ้น 9-10 ค่ำเดือนมุหัรรอม (เดือนที่ 1 ตามปฏิทินอิสลาม)
3. ถือได้หลายๆ วันในเดือนซะอบาน (เดือนที่ 8 ตามปฏิทินอิสลาม)
4. วันจันทร์ วันพฤหัสบดี ทุกสัปดาห์
5. วันขึ้น 13-14-15 ค่ำของทุกเดือน
6. วันเว้นวัน

                   ในทางตรงกันข้าม  วันที่ห้ามถือศีลอด  คือ
1. วันอีดทั้ง 2 คือ วันอีดิ้ลฟิตรีและอีดิ้ลอัฎฮา เพราะกำหนดให้เป็นวันรื่นเริง
2. วันตัซรีก คือวันที่ 11-12-13 เดือนฮัจย์
3. การเจาะจงถือศีลอดเฉพาะวันศุกร์เท่านั้น
4. ถือศีลอดตลอดปี

                    การถือศีลอดของชาวมุสลิมจึงเป็นการปฏิบัติศาสนพิธีที่มีเนื้อหาสาระเพื่อขัดเกลาจิตใจของผู้ปฏิบัติให้ผ่องแผ้ว ด้วยการพากเพียรต่ออุปสรรคและความยากลำบาก เหน็จเหนื่อย เพื่อให้มีจิตใจมุ่งมั่น หนักแน่น และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่กัน และมุ่งเน้นให้สามารถปฏิบัติได้ตลอดทั้งปี ไม่ใช่เพียงแต่เดือนรอมฎอนเพียงเท่านั้น อันเป็นกุญแจสำคัญของการอยู่ร่วมกันในสังคมที่ต้องอาศัยความเกื้อกูล และไมตรีจิตต่อกันนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น