วันอังคารที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2560

พระราชประวัติ "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ" รัชกาล ที่ 10


พระราชสมภพ
       เสด็จพระราชสมภพ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 เมื่อเวลา 17.45 น.

        พระองค์ทรงมีพระนามเมื่อแรกประสูติว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์บรมขัตติยราชกุมารเป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ


ขณะเมื่อทรงพระราชสมภพนั้น ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศที่เฝ้ารอคอยพระประสูติกาลต่างปลาบปลื้มปีติ ชื่นชมโสมนัส แซ่ซ้องในพระบุญญาธิการ ดังที่ศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล ได้บรรยายถึงบรรยากาศก่อนเวลาพระราชสมภพ ตราบจนถึงนาทีอันเป็นมงคลฤกษ์เสด็จพระราชสมภพว่า

 “...วันนี้ ครึ้มฟ้าครึ้มฝนตั้งแต่เช้า ฝนไม่ได้ตกมานาน นายแพทย์ผู้ถวายการประสูติเข้าประจำที่สักครู่ก็ประสูติพระราชกุมาร เวลา 17 นาฬิกา กับ 45 นาที ในนาทีเดียวกันนั้นเอง ฝนที่แล้งมาตลอดฤดูก็เริ่มโปรยปรายละอองลงมา ดูคล้ายๆ ฟ้าก็รู้เห็นเป็นใจกับการประสูติครั้งนี้ อารามดีใจสมประสงค์ของดวงใจทุกๆ ดวง นายแพทย์ที่ถวายการประสูติ ซึ่งพร้อมที่จะบอกแก่ที่ประชุม ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ว่า พระราชโอรส หรือพระราชธิดา กล่าวออกมาด้วยเสียงอันตื่นเต้นกังวานว่า ผู้ชาย แทนที่จะว่าพระราชโอรส ฝนโปรยอยู่ตลอดเวลา แตรสังข์ดุริยางค์เริ่มประโคม ทหารบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีปืนใหญ่ทั้งบกและเรือยิงสะเทือนเลื่อนลั่น เสียงไชโยโฮ่ร้องก็ดังอยู่สนั่นหวั่นไหว สมใจประชาชนแล้ว...ดวงใจทุกดวงมีความสุข...

       นับแต่นั้นมา ประชาชนชาวไทยต่างเฝ้าติดตามข่าวเกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ด้วยความจงรักภักดี และต่างปลาบปลื้มปีติ ชื่นชมโสมนัสยิ่งขึ้นเมื่อพระองค์ทรงเจริญวัย มีพระสุขภาพพลานามัยแข็งแรง เพียบพร้อมด้วยพระราชจริยวัตรและพระปรีชาสามารถเป็นที่ประจักษ์ตลอดมา

     มีพระเชษฐภคินี 1 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และพระขนิษฐภคินี 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี



การศึกษา

     เมื่อทรงเจริญวัยพระชนมมายุได้ 4 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ทรงเข้ารับการศึกษาชั้นอนุบาลที่ 1 ณ โรงเรียนจิตรลดา เมื่อเดือนกันยายน พุทธศักราช 2499 ขณะนั้นโรงเรียนนี้ยังตั้งอยู่ ณ พระที่นั่งอุดร พระราชวังดุสิต ต่อมาในปีพุทธศักราช 2500 จึงย้ายไปอยู่สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ได้ทรงศึกษาอยู่ในโรงเรียนจิตรลดา แล้วจึงเสด็จฯไปศึกษาต่อในโรงเรียนคิงส์ มิด เมืองซีฟอร์ด แคว้นซัสเซกส์ ประเทศอังกฤษ เมื่อเดือนมกราคม พุทธศักราช 2509 ต่อจากนั้นเสด็จฯไปทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนมิลล์ฟิลด์ เมืองสตรีท แคว้นซอมเมอร์เซท เมื่อเดือนกันยายน พุทธศักราช 2509


ตั้งแต่ยังทรงเยาว์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระอุปนิสัยโปรดความมีระเบียบวินัยและความสะอาดเรียบร้อย ไม่ทรงนิยมการฝ่าฝืนหรือละเมิดระเบียบข้อบังคับต่างๆ มีความสนพระราชหฤทัยในกิจการเกี่ยวกับกองทัพ และขณะที่ประทับอยู่ในประเทศไทยได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนที่ตั้งในกองทหารหน่วยต่างๆหลายแห่ง




  โดยที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามกุฎราชกุมาร ทรงสนพระราชหฤทัยในกิจการทหารเป็นอย่างมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงดำริเห็นว่า การศึกษาวิชาทหารในประเทศออสเตรเลียมีหลักสูตรการสอนกว้างขวางและมีการฝึกอย่างเข้มงวด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินจากประเทศอังกฤษไปทรงศึกษาวิชาทหาร ณ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อเดือนสิงหาคม พุทธศักราช 2513 ในขั้นแรกทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนคิงส์สกูล ตำบลพารามัตตา นครซิดนีย์ ซึ่งเป็นโรงเรียนเตรียมทหาร

     ต่อจากนั้นทรงเข้าศึกษาที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา ซึ่งทรงใช้เวลาในการทดสอบและฝึกอย่างหนักถึง 5 สัปดาห์ ทรงเข้าศึกษาและทรงเข้าประจำเหล่านักเรียนนายร้อยที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน ตั้งแต่ภาคแรกแห่งปีการศึกษาพุทธศักราช 2515 จนทรงจบการศึกษาในปีพุทธศักราช 2518


ในการศึกษาทุกระดับชั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงปฏิบัติตามระเบียบของสถานศึกษาเหมือนอย่างนักเรียนทั่วไปและเมื่อทรงเข้าศึกษาวิชาการทหารซึ่งมีการฝึกอบรมอย่างเข้มงวด ก็ได้ทรงปฏิบัติตามกฎระเบียบโดยสมบูรณ์ในระหว่างเวลาที่ทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนคิงส์สกูล ตำบลพารามัตตา นครซิดนีย์ ทรงได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าบ้านแมคอาเทอร์เฮาส์และได้ทรงปฏิบัติพระองค์อย่างดีเด่น โดยเฉพาะในการฝึกทหาร

พุทธศักราช 2499-พุทธศักราช 2509 - ทรงเข้ารับการศึกษาระดับอนุบาลที่พระนั่งอุดร พระราชวังดุสิต และโรงเรียนจิตรลดา

มกราคม-กันยายน พุทธศักราช 2509 - ทรงเข้ารับการศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนคิงส์ มิด เมืองซีฟอร์ด แคว้นซัสเซกส์ ประเทศอังกฤษ
พุทธศักราช 2509-พุทธศักราช 2513 - ทรงเข้ารับการศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมิลล์ฟิลด์ เมืองสตีท แคว้นซอมเมอร์เซทประเทศอังกฤษ

พุทธศักราช 2513-พุทธศักราช 2514 - ทรงเข้าศึกษาเตรียมทหารที่โรงเรียนคิงส์สคูล ตำบลพารามัตตา นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย

พุทธศักราช 2515-พุทธศักราช 2519 - ทรงเข้ารับการศึกษาระดับอุดมศึกษา และทรงได้รับปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต (การศึกษาด้านการทหาร) คณะการศึกษาด้านการทหาร มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย

พุทธศักราช 2520-พุทธศักราช 2521 - ทรงเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก หลักสูตรหลักประจำชุดที่ 56

พุทธศักราช 2527-พุทธศักราช 2530 - ทรงเข้ารับการศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยทรงได้รับปริญญานิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กรุงเทพฯ ประเทศไทย

มกราคม-ธันวาคม พุทธศักราช 2533 - ทรงเข้ารับการศึกษา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรแห่งสหราชอาณาจักร / ที่มาข้อมูล : หนังสือ 62 พรรษามหาวชิราลงกรณ์

พระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย

      ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 และรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ไม่มีพระราชพิธีสถาปนาองค์รัชทายาทหรือมงกุฎราชกุมาร เนื่องจากพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ไม่ทรงมีพระราชโอรส การสืบราชสมบัติในรัชกาลที่ 7 จนถึงรัชกาลปัจจุบัน จึงเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชสมภพเมื่อพุทธศักราช 2467 พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ว่างเว้นมาเป็นเวลาถึง 78 ปี บัดนี้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าชิราลงกรณ ได้มีพระชนมายุ 20 พรรษาบริบูรณ์ ทรงบรรลุนิติภาวะตามกฎหมายจึงกำหนดให้มีการพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ในเดือนธันวาคม พุทธศักราช 2515 ทางราชการได้กำหนดให้มีพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร ในวันที่ 28 ธันวาคม พุทธศักราช 2515 พระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร ในครั้งนี้ได้กำหนดพระราชพิธีอกกเป็น 3 อันดับ คือ


พระราชพิธีอันดับแรกได้แก่ การจารึกพระสุพรรณบัฏพระนามาภิไธย รวมทั้งพระราชสัญจรคือตราประจำพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชพิธีนี้จัดทำขึ้นในวันที่ 21 ธันวาคม พุทธศักราช 2515 ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เวลา 1 นาฬิกา 56 นาที

     พระราชพิธีอันดับที่สอง ได้แก่ พระราชพิธีเสกน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ซึ่งจัดทำ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เช่นเดียวกัน ในวันที่ 27 ธันวาคม พุทธศักราช 2515 เวลา 15 นาฬิกา ในเวลา 16 นาฬิกา 30 นาที เป็นพระราชพิธีทักษิณานุปทาน ถวายสักการะ พระสยามเทวาธิราช และสดับปกรณ์พระบรมอัฐิพระบรมราชบูรพการี พระราชพิธีนี้จัด ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง

    พระราชพิธีอันดับที่สาม คือ พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชพิธีนี้จะจัดขึ้น ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมพระราชวังดุสิต ในวันที่ 28 ธันวาคม พุทธศักราช 2515 พระราชพิธีนี้จะเริ่มตั้งแต่เวลา 12 นาฬิกา 23 นาที เป็นต้นไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 ทรงหลั่งน้ำพระมหาสังขทักษิณาวรรตพระราชทานแต่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพแตวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ทหารบก ทหารเรือ ยิงปืนใหญ่ เฉลิมพระเกียรติฝ่ายละ 21 นัด ขณะเดียวกันตามวัดต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักรรัวระฆังพร้อมกัน 3 ลา เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 พระราชทานน้ำพระมหาสังข์แล้วจะได้พระราชทานพระสุพรรณบัฏพระนามาภิไธย พระราชลัญจกร พระแสงดาบ และเครื่องราชอิสริยยศ ตามลำดับ

     พระราชพิธีนี้จัดขึ้นท่ามกลางมหาสมาคมอันประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน และคณะทูตานุทูต นอกจากนั้นในวันเดียวกันนี้ เวลา 15 นาฬิกา 30 นาที สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมาร เสด็จฯ ทรงถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ซึ่งพราหมณ์ได้ทิธีไว้ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม พุทธศักราช 2515 ณ อุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง

     หลังจากวันสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร วันที่ 29 ธันวาคม พุทธศักราช 2515 เวลา 07:00 นาฬิกา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ ไปยังพลับพลาพิธี ณ ท้องสนามหลวง ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ทรงบาตรร่วมกับประชาชน ในโอกาสนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชาชนเฝ้าฯ รับเสด็จ ต่อมาในเวลา 16 นาฬิกา 30 นาที ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพร ณ ศาลาสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิตในตอนค่ำเวลา 18 นาฬิกา 30 นาที คณะรัฐบาลจัดงานสโมสรสันนิบาตถวาย ณ ทำเนียบรัฐบาล

     ในโอกาสพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทางราชการจะได้จัดงานเฉลิมฉลอง คือ มีการตกแต่งพระนครเช่นเดียวกับวันเฉลิมพระชนมพรรษารวม 3 วัน ระหว่างวันที่ 27-29 ธันวาคม ทั้งนี้จะมีงานมหรสพฉลอง ณ ท้องสนามหลวง เช่นเดียวกับวันขึ้นปีใหม่และหน่วยราชการต่างๆ ก็จะได้จัดกิจกรรมเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

      เลขาธิการพระราชวัง รับพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ สั่งว่า จอมพลถนอม กิตติขจรหัวหน้าคณะปฏิวัติ ได้กราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่าสภาบริการคณะปฏิวัติได้ประชุมปรึกษาลงมติให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานให้ทรางสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ให้ทรงดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารตามโบราณขัตติยราชประเพณี ทรงพระราชดำริพิจารณาแล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ให้ทรงดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารโดยอนุโลมตามขัตติยราชประเพณีที่เคยมีมาแล้ว และเมื่อให้เหมาะสมแก่กาลสมัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กำหนดการพระราชพิธีต่อไปนี้ / ที่มาข้อมูล : หนังสือ 62 พรรษามหาวชิราลงกรณ
ทรงผนวช


สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ มีพระทัยศรัทธาจะอุปสมบทในพระพุทธศาสนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทรงผนวชในวันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521 เวลา 15.00 น. ตรงกับวันขึ้น 7 ค่ำ เดือน 12 ปีมะเมีย ณ พัทธสีมาพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และสมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณฺณโก) ถวายอนุสาสน์ ผนวชแล้วเสด็จฯ ไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร พระมหารัชมงคลดิลก (บุญเรือน ปุณฺณโก) เป็นพระอภิบาลผนวชอยู่ 15 วันจึงลาผนวช / ที่มาข้อมูล : หนังสือ 62 พรรษามหาวชิราลงการณ



ทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์

     สภานิติบัญญัติแห่งชาติ รับทราบวาระพิเศษเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ ตามที่ ครม.แจ้งว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เป็นองค์พระรัชทายาทไว้แล้ว เตรียมกราบบังคมทูลเชิญขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป

     วันที่ 29 พ.ย.2559 ที่อาคารรัฐสภา เมื่อเวลา 11.00 น.สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้จัดประชุมครั้งที่ 76/2559 เป็นนัดพิเศษ เพื่อพิจารณาระเบียบวาระตามที่ได้รับแจ้งจากคณะรัฐมนตรี

     โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธานการประชุม สนช.เพื่อพิจารณาวาระสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาล ในการรับทราบวาระเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ ตามที่คณะรัฐมนตรีส่งให้ ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่ระบุไว้ในมาตรา 23 ว่ากรณีที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยสืบราชสันตติวงศ์แล้ว ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อรับทราบและให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ

    นายพรเพชร กล่าวว่า ในขั้นตอนต่อไป สนช.จะได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 2 ประกอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 23

     บทบัญญัติของหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ปี 2557 ระบุว่า ให้บทบัญญัติของหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2550 ยังคงใช้บังคับต่อไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งมาตรา 23 ในหมวด 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ของรัฐธรรมนูญปี 2550 บัญญัติไว้ว่า

     "ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลงและเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 แล้ว ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อรับทราบและให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ"

  ต่อจากนั้น นายพรเพชรได้ขอให้สมาชิก สนช.น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยแด่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลใหม่

     “ในโอกาสอันเป็นมหามงคล ผมขอให้สมาชิกทุกท่านโปรดยืนขึ้นเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระ หม่อมถวายพระพรชัยแด่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลใหม่” นายพรเพชรกล่าวให้สมาชิกสนช.ถวายพระพรพร้อมกัน จากนั้นสมาชิก สนช.พร้อมใจกันเปล่งเสียงว่า “ขอพระองค์ทรงพระเจริญ” ก่อนที่นายพรเพชรจะสั่งปิดการประชุมในเวลา 11.25 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น