ทำมาหากิน
: ผลไม้แปรรูป 5 ดาว 'บูตง' ของฝากอร่อยเมืองยะลา
: โดย...โต๊ะข่าวเกษตร
ไม้ผลแปรรูป แบรนด์ “บูตง” ผลงานของกลุ่มแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรบ้านพรุ
ต.ลำพะยา อ.เมือง จ.ยะลา คือหนึ่งในชุมชนพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่ไม่ยอมหยุดนิ่ง
แม้วิถีชีวิตจะได้รับผลกระทบจากความไม่สงบที่รายล้อมในแต่ละวัน ทว่า
ได้รังสรรค์สินค้าคุณภาพ ติดทำเนียบโอท็อป 5 ดาวของจังหวัดได้สำเร็จ โดยเฉพาะ “ทุเรียนกวน” ความอร่อยที่สร้างชื่อ สร้างเงิน
สร้างงานให้สมาชิกไม่น้อย
“สมหมาย
พรหมมณี” ผู้ประสานงานกลุ่มแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรบ้านพรุ
บอกว่า แต่ละปีมีทุเรียนออกสู่ตลาดจำนวนมาก ทำให้ต้องหาวิธีแปรรูปผลผลิต
ซึ่งการแปรรูปโดยวิธี “กวน” คือข้อสรุปที่ดีที่สุด
โดยกลุ่มแรกเริ่มมีสมาชิก 10 คน ปัจจุบันมี 20 คน
แต่ละคนจะปลูกทุเรียนไว้ที่สวนตัวเอง โดยเฉพาะพันธุ์พื้นเมืองหรือทุเรียนป่า
เมื่อผลผลิตมากทำให้ราคาไม่ดี จึงเป็นจุดเริ่มต้นนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าให้แก่พันธุ์ท้องถิ่นเป็นการสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง
สมหมาย บอกว่า ทุกๆ
ครั้งที่นัดกวนทุเรียนจะแบ่งการทำงาน
ซึ่งกลุ่มแรกไปคัดเลือกทุเรียนพื้นเมืองวัตถุดิบหลักก่อน
จากนั้นให้กลุ่มที่สองทำความสะอาดตามขั้นตอนต่างๆ ทว่า ด้วยทุเรียนพื้นเมืองจะมีต้นสูงใหญ่
ทำให้เป็นอุปสรรคในการปีนขึ้นไปตัด
เหตุนี้จึงต้องรอให้ผลสุกงอมและร่วงหล่นลงมาเองตามธรรมชาติ
ทำให้ผลทุเรียนแตกเมื่อตกลงพื้นดิน จึงต้องเก็บเศษใบไม้ เศษหญ้า ดิน เม็ดกรวด
ที่ติดอยู่ออกให้หมดในขั้นตอนการทำความสะอาดก่อนเข้าสู่การแกะเอาเฉพาะเนื้อมากวนต่อไป
ทุเรียนกวนแบรนด์
“บูตง” ทุกขั้นตอนผลิตจะใช้เวลากวน 3-4 ชั่วโมง
โดยใช้เนื้อทุเรียน 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีส่วนผสมอื่น และผลิตทุเรียนกวน 2 สูตร
คือ สูตรไม่มีน้ำตาลและมีน้ำตาล ซึ่งทั้งสองสูตรไม่ใส่สารกันบูด
แต่เก็บในตู้เย็นได้นาน 2 เดือน
และเมื่อรับประทานก็ใส่ไมโครเวฟอุ่นพอให้เนื้อนิ่มก็อร่อยเหมือนเดิม
แต่ถ้าจะให้อร่อยได้รสชาติถึงใจแนะนำลูกค้ารับประทานให้หมดภายใน 7 วัน
“สูตรไม่มีน้ำตาลราคาจำหน่าย
320 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนแบบใส่น้ำตาล (เนื้อทุเรียน 10 กิโลกรัมต่อน้ำตาล 1
กิโลกรัม) ราคา 300 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งในช่วงฤดูกาลที่ทุเรียนให้ผลผลิตนั้น
สามารถผลิตทุเรียนกวนได้ 200-300 กิโลกรัมต่อวัน ทว่า ในปีนี้ผลผลิตทุเรียนน้อยมาก
จึงทำให้กลุ่มผลิตได้แค่วันละ 30-40 กิโลกรัมเท่านั้น”
อีกทั้งกลุ่มยังมีสินค้าอร่อยตัวอื่นแบรนด์
“บูตง” ด้วย เช่น ทอฟฟี่ทุเรียน ส้มแขกกวน
ส้มแขกแช่อิ่ม ฯลฯ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมเช่นกัน โดยมีตลาดจำหน่ายหลักๆ
งานแสดงสินค้าโอท็อปในพื้นที่ต่างๆ ที่หน่วยงานรัฐและเอกชนจัดขึ้น เช่น
ที่เมืองทอง กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม การตั้งชื่อ “บูตง” เป็นแบรนด์สินค้า สมหมายบอกว่า
เนื่องจากพื้นที่ที่ชุมชนอาศัยอยู่ในอดีตมีสวนเก่าแก่
และเป็นที่ท่องเที่ยวที่คนในพื้นที่เรียกว่า “สวนปู่ตง”
ต่อมาเพี้ยน กลายเป็น “บูตง” ซึ่งแปลว่า โชคดี ผู้มีบุญ จึงเป็นที่มาของผลิตภัณฑ์ "บูตง” ปัจจุบัน
สำหรับท่านที่อยากลิ้มลองเมนูอร่อยเหล่านี้
ติดต่อไปได้ที่กลุ่มแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรบ้านพรุ ต.ลำพะยา โทรศัพท์
08-9294-9976
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น