วันอาทิตย์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ยะลา......เมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี


เมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี...เทศบาลนครยะลา ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 24 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ เข้าร่วมโครงการ เมืองปั่นได้ เมืองปั่นดีถ้ามองถึงความพร้อมของเมืองยะลาและพี่น้องประชาชนชาวยะลาแล้วเราเชื่อว่า จะมีความเป็นไปได้สูงมาก ย้อนกลับไปในอดีตเทศบาลเมืองยะลาสมัย 30-40 ปีที่แล้ว เรามีเลนจักรยานอยู่บนถนนพิพิธภักดี ถนนสุขยางค์ โดยสมัยนั้นนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ปั่นจักรยานไปโรงเรียน ไปตลาด ไปตามสถานที่ต่างๆทั่วเมืองจำนวนมาก แม้ช่วงหนึ่งคนยะลาจะมีการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ รถจักรยานยนต์แทนการปั่นจักรยาน แต่เมื่อมีกระแสการปั่นจักรยาน Bike for Mom และ Bike for Dad คนยะลาก็หันกลับมาใช้จักรยานมากขึ้น หลายๆคนบอกว่าถ้าเทียบจำนวนอัตราประชากรที่ปั่นจักรยานต่ออัตราประชากรทั้งจังหวัดแล้ว ยะลาน่าจะมีคนปั่นจักรยานสูงสุดของประเทศ สังเกตจากหลายๆกิจกรรมที่จัดขึ้นมา เช่นเนชั่นไบก์ไทยแลนด์ที่จัดทั่วประเทศ จังหวัดยะลามีคนปั่นสูงสุดถึง 6,000 คน นอกจากนี้เรายังมีกิจกรรมการปั่นจักรยานอีกหลากหลายกิจกรรมในช่วงสองปีที่ผ่านมา
เพื่อให้เห็นว่าโครงการเมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี เป็นอย่างไร ขอนำความเห็นของ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ผู้ผลักดันโครงการกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ส่งเสริมให้คนในชุมชนหันมาใช้จักรยานกันมากขึ้น มาให้ทุกท่านได้อ่านกันครับ
การใช้จักรยานเป็นพาหนะในชีวิตประจำวัน เป็นหนึ่งในกิจกรรมทางกายที่ได้รับความสนใจและได้รับการส่งเสริมทั่วโลกมาช้านาน แต่ในประเทศไทยด้วยสภาวะแวดล้อมทางกายภาพที่ไม่เอื้ออำนวย และการเติบโตสู่ความเป็นสังคมเมืองที่เน้นความสะดวกสบายมากขึ้น จนทำให้ความนิยมในการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันลดลง ทั้งๆ ที่การขี่จักรยานในชีวิตประจำวันนั้น ไม่ว่าจะขี่ไปโรงเรียน ขี่ไปทำธุระ หรือไปทำงาน ประโยชน์ที่ได้รับไม่เพียงผู้ขี่มีสุขภาพแข็งแรงขึ้น แถมยังช่วยลดปัญหาการจราจรและมลพิษทางอากาศได้อีกด้วย
การใช้จักรยานนอกจากจะดึงคนสามวัยออกมาใช้ชีวิตร่วมกันในเรื่องสุขภาพแล้ว ยังเพื่อการเดินทางของชุมชนอีกด้วย เพราะการใช้จักรยานเป็นวิธีการเดินทางที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ และยังลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งยังส่งผลต่อสุขภาพ ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ได้ออกกำลังกายด้วยสองเท้าปั่น ผลยังช่วยลดต้นทุนด้านค่ารักษาพยาบาลของภาครัฐได้อีกด้วย
ขอบเขตการส่งเสริมการใช้จักรยานในชุมชนในชีวิตประจำวันนั้น คือการใช้จักรยานเพื่อการเดินทางในชีวิตประจำวันในระยะทางสั้นๆ ประมาณ 1-3 กิโลเมตร แต่ไม่ได้หมายถึง การใช้จักรยานเพื่อออกกำลังกาย นันทนาการ การท่องเที่ยว หรือเพื่อการแข่งขันเพียงเท่านั้น

ขอเชิญชวนทุกท่านมาปั่นจักรยานที่ยะลา เพราะที่นี่คือ... เมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น